วันที่ 1 ส.ค.67 พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประชุม ก.พ.ค.ตร. พิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ลงนามโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะรักษาราชการแทน ผบ.ตร. ในขณะนั้น 

พล.ต.ท.อนุชา เปิดเผยว่า วันนี้จะยังไม่ทราบผลการลงมติ ซึ่งคณะกรรมการได้มีการพิจารณาตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ที่ได้เรียกทั้ง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มาแถลงด้วยวาจา โดยหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายออกจากห้องประชุมไป คณะกรรมการก็เริ่มพิจารณาจนถึงช่วงค่ำ และในวันนี้ก็มีการนัดพิจารณากันต่อ 

ในการประชุมวันนี้ ได้สอบถามในที่ประชุม ทราบว่า เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมากหลายพันแผ่น และข้อมูลที่มีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลที่มีการแถลงด้วยวาจา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แม้เป็นข้อมูลเดิมที่ทราบมาแล้ว แต่ก็ต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบทั้งหมด จึงต้องใช้ระยะเวลา และคาดว่า ไม่น่าเสร็จทันภายในวันนี้ แต่เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง และจะได้ข้อสรุปอย่างช้าที่สุด คือภายในวันพฤหัสบดีหน้า (8 ส.ค. 67)

"ทั้งนี้ แม้การประชุมจะได้ข้อสรุป และนำไปสู่การวินิจฉัย แต่ตามขั้นตอนแล้ว จะต้องแจ้งให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้รับทราบก่อน ถึงจะเปิดเผยได้ต่อสาธารณชนได้" พล.ต.ท.อนุชากล่าว 

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีผลการลงมติออกมาแล้ว 6:0 ที่เห็นชอบว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ชอบด้วยกฎหมาย พล.ต.ท.อนุชา ระบุว่า ความชัดเจนอยู่ที่คณะกรรมการฯ ที่ขณะนี้กำลังประชุมลับอยู่ ข้อมูลนี้ไม่สามารถตอบได้ว่าจริงหรือเท็จ เพราะตนไม่ได้อยู่ในห้องประชุม และตอนนี้ยังไม่มีมติอะไรออกมา ซึ่งกระแสดังกล่าวเป็นเพียงแค่การนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชน หรือบุคคลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน และคณะกรรมการฯ ก็ยังไม่ได้ตอบว่าใช่หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการลงมติออกมาแล้ว จะส่งให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยทันทีหรือไม่ พล.ต.ท.อนุชา กล่าวว่า หน้าที่หลักของเราคือการส่งคำวินิจฉัยให้คู่กรณีที่ 2 ฝ่าย และเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หากแจ้งว่ารอผลจาก ก.พ.ค.ตร. อยู่ และร้องขอมา เราก็จะดำเนินการแจ้งให้ทราบผ่านการประสานงานในส่วนราชการด้วยกัน และการจะนำเหตุผลนี้ไปประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ก็แล้วแต่ส่วนราชการที่มีหน้าที่

อย่างไรก็ตาม หากมีผลวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาแล้วว่า คำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย แปลว่า คำร้องขออุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ นั้นฟังไม่ขึ้น จึงต้องยกอุทธรณ์ และถือว่าเป็นที่สิ้นสุดของหน้าที่ฝ่ายบริหารแล้ว แต่หาก พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ มองว่า ผลวินิจฉัยไม่เป็นธรรม ก็สามารถไปร้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้

ส่วนกรณีที่นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งในคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ออกมาเปิดเผยว่า หากผลการลงมติออกมามีเสียงเท่ากัน ประธานในที่ประชุมจะเป็นผู้ชี้ขาดนั้น พล.ต.ท.อนุชา ระบุว่า ท่านชี้แจงตามกฎหมาย และกฎระเบียบของการประชุม ก.พ.ค.ตร. ซึ่งเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายการประชุมอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการลงมติออกมาว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่ออกคำสั่งจะถูกลงโทษด้วยหรือไม่ พล.ต.ท.อนุชา กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องทางปกครองที่จะต้องเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ส่วนผู้รับผิดชอบในคำสั่งดังกล่าวนั้น หากมีการร้องเป็นคดีอาญา ก็เป็นอีกส่วนนึงที่จะต้องตรวจสอบ แต่ในทางปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบว่าคำสั่งนั้นถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร ไม่ใช่ผู้วินิจฉัยผู้ออกคำสั่ง

โดย พล.ต.ท.อนุชา ยืนยันอีกว่า การลงมติของ ก.พ.ค.ตร. ไม่มีการเมืองแทรกแซง เพราะคณะกรรมการแต่ละท่านก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตข้าราชการระดับสูง ไม่ได้กำหนดตัวมาว่าจะให้ใครเข้ามาเป็นคณะกรรมการ เนื่องจากการคัดเลือกมีกระบวนสรรหาที่เข้มข้น ไม่ยืดหย่อนต่อการคัดเลือกบุคลากรที่สำคัญขององค์กร