วันที่ 1 ส.ค.67 เวลา 13.30 น. ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยมี นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานรัฐมนตรี นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

“วันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมทั้งพูดคุยในเรื่องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมแผนในการดูแลรองรับพื้นที่ที่เปราะบาง และมาตรการดูแลประชาชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งได้มีการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในที่ประชุม” นายกฯ กล่าว 

 

จากนั้นนายชัชชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร นำนายกฯ เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ภายในอาคารสำนักการระบายน้ำ ชั้น 6 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง พร้อมให้ข้อมูลว่า การทำงานจะนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบด้วย สถานีแม่ข่าย (Master Station) และสถานีเครือข่าย (Monitoring Station) กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีระบบจัดการและควบคุมโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าระบบ SCADA (Supervisory Control And Data Acquisition) ประกอบไปด้วย ระบบตรวจวัดข้อมูลต่างๆ เช่น 1.เรดาร์ตรวจอากาศ (หนองจอก หนองแขม) จำนวน 2 แห่ง 2.ระบบตรวจวัดปริมาณฝน จำนวน 130 แห่ง 3.ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน จำนวน 100 แห่ง และระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด จำนวน 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่ม จำนวน 140 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนธ.ค.67 เมื่อแล้วเสร็จจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 248 แห่ง 4.ระบบตรวจวัดระดับน้ำ จำนวน 255 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่ม จำนวน 25 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนก.ย.67 เมื่อแล้วเสร็จจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 280 แห่ง 6.ระบบตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำ จำนวน 30 แห่ง 7.ระบบตรวจสอบการทำงานของประตูระบายน้ำ จำนวน 46 แห่ง 8.ระบบการตรวจสอบการทำงานของเครื่องสูบน้ำ จำนวน 32 แห่ง 

 

สำหรับการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย การควบคุมระดับน้ำตามคูคลอง แก้มลิง และบ่อสูบน้ำต่างๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน พื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนและซอย เตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และหน่วย Best หรือหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าแก้ไขสถานการณ์ การขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช การติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำ การแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม สำรวจและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯกทม.ได้มอบหมายให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือประชาชน 

 

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรับน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน กทม. ได้การประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ติดตาม คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำอื่นๆ ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง จัดเตรียมกระสอบทรายพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อให้สามารถป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ และบริเวณที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรหรือแนวฟันหลอ รวมถึงพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตามและเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่างๆ ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ในทันที พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ลดระดับน้ำในคลองต่างๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงเร่งสูบระบายน้ำ หากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำในสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมในการใช้งานทุกจุด สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมให้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ และเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด

​​​​​​​