วันที่ 1 ส.ค. 67 ที่รัฐสภา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยข้อสรุปหลังได้มีการหารือกันในที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการฟ้องร้องในคดีต่างๆ แบ่งได้เป็น คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีการปกครอง ซึ่งคดีการปกครองมีบางภาคส่วนได้ดำเนินคดีกับกรมประมงไปแล้ว ซึ่งวันนี้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม โดยได้เปรียบเทียบตัวกฎหมายในปี 2490 ที่ใช้บังคับในปี 2553-2554 และกฎหมายพรก.ประมง ที่ใช้บังคับในปี 2558 โดยในมาตรา 36 พรก.ประมง ระบุว่า หากอนุญาตไปแล้วไม่ทำตามเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ใบอนุญาตนั้นเป็นคนละส่วนกันกับใบที่เขียนเงื่อนไขในการนำเข้าปลาหมอคางดำ
นพ.วาโย กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ถ้ากระดาษอยู่คนละแผ่นแต่เป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อหาเหมือนกัน ต้องพิจารณาร่วมกัน จึงเกิดประเด็นว่ากรมประมงได้ ปฏิบัติตามมาตรา 36 ตาม พรก.ประมง 2490 หรือไม่ ในเรื่องที่บริษัทเอกชนไม่ได้เก็บครีบและส่งขวดโหลปลาคืนให้กับกรมประมง อาจต้องดำเนินกระบวนการต่างๆต่อไป เพราะไม่แน่ใจว่าในเงื่อนไขได้กำหนดเวลาไว้หรือไม่ ส่วนคดีทางอาญา ทุกภาคส่วนลงความเห็นว่าอาจไม่เอาผิดได้ แต่คดีความทางแพ่งอาจสามารถเอาผิดได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทเอกชน ในฐานละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายได้ และอีกส่วนเป็นการฟ้องร้องของรัฐโดยตรง ตามพรบ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2535 ตามมาตรา 97 ระบุว่า ถ้าหากผู้ใดทำให้สิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรณ์ธรรมชาติเสียหาย ต้องจ่ายค่าชดเชยให้รัฐทั้งหมดได้
"กรมทรัพยากรณ์ชายฝั่งได้ร่วมดำเนินการสำรวจความเสียหายและจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางคณะอนุกรรมการได้เชิญ บริษัทเอกชนเข้ามาชี้แจงเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งนี้ได้ให้คณะกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ออกหนังสือเชิญด้วยตัวเอง และยังไม่มีหนังสือลาการประชุมคาดว่า วันนี้(1 ส.ค.) บริษัทเอกชนดังกล่าวได้เข้ามาชี้แจงในที่ประชุมแล้ว"นพ.วาโย กล่าว