วันที่ 1 ส.ค.67 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังประชุมหัวหน้าหน่วยงาน กทม. กรณีการชำระหนี้รถไฟฟ้าบีทีเอสว่า ยอมรับคำสั่งศาล โดยจะเร่งการประชุมใหญ่เพื่อหาข้อสรุประหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และกรุงเทพมหานคร และวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลโดยละเอียด ซึ่งมีบางจุดที่เป็นประเด็นจากศาล ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบตามที่ศาลมีคำวินิจฉัยออกมาและหาแนวทางในการปฏิบัติ

 

ในส่วนความผิดคือการหยุดชำระหนี้จากส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ในช่วงประมาณปี 2564 มีการนำหนี้มารวมเพื่อนำไปต่อสัญญาตาม ม.44 จึงทำให้เกิดการหยุดชำระเงิน ต่อมา ม.44 ไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กรุงเทพมหานครจึงรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี ช่วงแรกบีทีเอสยอมรับการไม่จ่ายเงิน แต่เมื่อปี 2564 ทางบีทีเอสได้ฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยจากศาลฯ ระบุว่ากรุงเทพมหานครไม่ต้องรอคำสั่งจากคณะรัฐมนตรี โดยให้จ่ายตามภาระที่มีอยู่รวมถึงระบุดอกเบี้ยมาด้วย ซึ่งก็ทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระและความกดดันเพิ่มมากขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 6,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท แต่ค่าโดยสารที่เก็บได้ เป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้เงินงบประมาณมาจ่ายส่วนต่างในการเดินรถ จำนวน 6,000 ล้านบาท สำหรับงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับปีละ 90,000 ล้านบาท เมื่อต้องหักไปจ่ายหนี้ 6,000 ล้านบาท รวมทั้งมูลหนี้ที่รวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็นภาระของชาว กทม. ไปโดยปริยาย

 

"คาดว่าใช้เวลาประมาณ 140 วัน จะพยายามให้การดำเนินการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 180 วัน ตามคำสั่งศาล โดยกรุงเทพมหานครจะพยายามใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นเงินของประชาชน และจะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวว่าจะมีวิธีใดที่จะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ การต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุนที่จะหมดในปี 2572 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เน้นย้ำว่าทางกรุงเทพมหานครเองจะต้องพิจารณาคำสั่งศาลให้ถี่ถ้วน เพราะข้อมูลบางตัวอาจจะไม่เป็นปัจจุบัน" นายชัชชาติ กล่าว