วันที่ 31 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายนพดล ผุดผ่องเกษตรจังหวัดยโสธรพร้อมด้วยเกษตรอำเภอลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรอำเภอคำเขื่อนแก้วและอำเภอมหาชนะชัยจังหวัดยโสธรคาดเสียหายกว่า2.4พันไร่


นายนพดล ผุดผ่อง เกษตรจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดยโสธร อีกทั้งมีการระบายน้ำจากเขื่อนมากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมนาข้าวที่กำลังเจริญเติบโตของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำติดริมแม่น้ำชี ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการรายงานและลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับเกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และผู้นำชุมชน ในวันนี้มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอคำเขื่อนแก้ว มีพื้นที่การเกษตร (ข้าว) ได้รับผลกระทบ ประมาณ 2,486 ไร่ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นแนวทางการติดตาม ป้องกันและลดผลกระทบของพื้นที่การเกษตรจากสถานการณ์ภัยพิบัติ เพื่อช่วยลดความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และแนวทางการดำเนินการ 4 ด้าน คือ

ระยะที่ 1.ก่อนเกิดภัย ได้แก่ ด้านการป้องกัน (Prevention) และด้านการเตรียมความพร้อม (Preparation) 
ระยะที่ 2. ขณะเกิดภัย ได้แก่ ด้านการเผชิญเหตุ (Response) 
ระยะที่ 3. หลังเกิดภัย ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู (Recovery) 


และได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.การติดตามสภาพอากาศ การติดตามและประเมินสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องเพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรล่วงหน้า เพื่อรับทราบข้อมูล ได้เข้าใจสถานการณ์ และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
2.สำรวจและสอบทานความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมในการใช้งานตลอดเวลา และเมื่อเกิดภัยพิบัติให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างรวดเร็วเหมาะสมกับสถานการณ์ และให้แจ้งสิทธิ์ สอบถามสิทธิ์ สำรวจ ประเมินผลกระทบเบื้องต้น ให้คำแนะนำเตรียมการฟื้นฟูพื้นที่ให้มีศักยภาพในการผลิตได้เหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม

3.รายงานสถานการณ์เหตุด่วนฉุกเฉินต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดทราบทันที และ4.ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ  เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล (เกษตรตำบล) หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดยโสธร