วันที่ 31 ก.ค.67 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ นายปรเมษฐ์ แดนดงยิ่ง รองประธานกรรมการคดีปกครอง นายภูไท กลิ่นจันทร์ รองประธานอนุกรรมการคดีปกครอง และนายชัยยุทธ รัตนปันตี รองประธานกรรมการคดีปกครอง ร่วมแถลงข่าวเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน  และสภาทนายความ ได้ตั้งประธานสภาทนายความทนายความจังหวัดรวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความ เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน 

ต่อมา มีชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความได้พิจารณาบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดหรือเป็นต้นเหตุของการระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่น ในกรณีนี้สภาทนายความโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้จดทะเบียนเป็นองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อปีพ.ศ. 2545 และเป็นสมาชิกของสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษอันเกิดจากการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษรวมทั้งเป็นผู้แทนในคดีที่มีการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับอันตรายหรือได้รับความเสียหายนั้นด้วย ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

จากการสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานสภาทนายความ พบว่าปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากการประมงให้นำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและมีการนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปีพ.ศ. 2553  ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการแห่งหนึ่งย่านจังหวัดสมุทรสงคราม  และพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มระบาดครั้งแรกที่ตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง  อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

จากกรณีดังกล่าว  คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความและคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง จึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง คือ

1) การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก “ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย”

2) การดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครองและให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

"คดีทั้ง 2 ส่วนนี้ จะมีการยื่นฟ้องต่อศาล ทั้งศาลแพ่ง และศาลปกครอง ไม่เกินวันที่ 16 ส.ค.นี้" นายกสภาทนายความฯ กล่าว