พม. เชิญชวน ประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันรณรงค์การปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

วันที่ 31 ก.ค.67 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประกาศให้วันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล (World Day Against Trafficking in Persons) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน ในการต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ภายใต้การนำของ รมว.พม. วราวุธ ศิลปอาชา ได้ผลักดันแคมเปญรณรงค์การต่อต้านการค้ารค้ามนุษย์ โดยปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อไว้ว่า "เราจะไม่ทอดทิ้งเด็กให้ต่อสู้กับการค้ามนุษย์เพียงลำพัง (Leave No Child Behind in the Fight Against Human Trafficking)" ซึ่งมีทิศทางที่สอดคล้องกับทิศทางขององค์การสหประชาชาติ 

รมว.พม. กล่าวว่า แม้ว่าวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ยังคงต้องเดินหน้ากระทรวง พม. ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิด ทำให้ประเทศไทย และที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก หนึ่งในเป้าหมายของขบบวนการค้ามนุษย์ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ที่มักจะถูกแสวงประโยชน์ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ เนื่องด้วยนักค้ามนุษย์อาศัยความเปราะบางของเด็กที่อาจรู้ไม่เท่าทันเป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์ เนื่องในวันต่อต้านการค้ามนุษย์สากล 30 กรกฎาคม 2567 กระทรวง พม. จึงอยากชวนให้สังคมไทยหันมาเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมรณรงค์ และร่วมกันต่อต้านกระบวนการค้ามนุษย์  โดยกระทรวง พม. ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยการค้ามนุษย์แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถป้องกันตนเองและครอบครัวจากการค้ามนุษย์ ด้วยการ

1) การสร้างเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ 

2) พัฒนาสื่อเพื่อสร้างวิทยากรเด็กและเยาวชนในการป้องกันการค้ามนุษย์ระดับพื้นที่ 

3) คุ้มครองเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองตามกฎหมายและหลักการสากล 

4) สร้างภูมิคุ้มกันการค้ามนุษย์แก่เด็กที่ตกเป็นผู้เสียหาย เพื่อป้องกันการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ซ้ำ 

ขอเชิญชวน ประชาชนและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันรณรงค์และปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ 

ทั้งนี้ หากพบเห็นสถานการณ์การค้ามนุษย์ สามารถแจ้งเหตุมาที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านฮอตไลน์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งเหตุบนมือถือ ผ่าน Mobile Application "Protect-U" ตลอด 24 ชั่วโมง ได้เช่นเดียวกัน