กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ ม.เกษตรฯ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กระจายรอบพื้นที่ 12 เครื่อง เพื่อเร่งศึกษาหาสาเหตุและความชัดเจน หลังเกิดแผ่นดินไหวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 5 ครั้งทั้งที่อยู่นอกเขตรอยเลื่อน
(30 ก.ค.67) ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผอ.ส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายสิทธิรักษ์ ลิมป์สวัสดิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรธรณี และนายวุฒิชัย พิรุณสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลโคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เพื่อติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน เร่งหาสาเหตุที่ชัดเจนในการเกิดแผ่นดินไหว หลังจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ได้ตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ขนาด 1.7 – 3.0 ความลึกราว 1 กิโลเมตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง 5 ครั้ง ทั้งที่อยู่นอกเขตรอยเลื่อน และแม้จะไม่ได้เกิดผลกระทบกับอาคารบ้านเรือนหรือประชาชนในพื้นที่ที่ตรวจพบแผ่นดินไหว แต่ก็สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้าน เพราะที่ผ่านไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน
ทั้งนี้ ได้มีปลัดอำเภอลำปลายมาศ พร้อมด้วยนายก อบต.โคกล่าม และเจ้าหน้าที่ มาร่วมรับฟังข้อมูลการตรวจวัดคลื่นสั่นสะเทือน จากผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรธรณี รวมถึงวิธีแนวทางปฏิบัติหากเกิดแผ่นดินไหวด้วย เพื่อจะได้นำข้อมูลไปสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ
ดร.วีระชาติ วิเวกวิน ผู้อำนวยการส่วนรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหว กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องนำเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินมาติดตั้งไว้ที่ อบต.โคกล่าม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใกล้จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้การเกิดแผ่นดินไหวจะมีขนาดเบาและเล็กมาก เทียบได้กับแรงสั่นสะเทือนคล้ายเมื่อมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน และไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างหลักเลย แต่ก็อยากทราบว่าในพื้นที่จะมีความเสี่ยงกับแผ่นดินไหวมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่าน จึงเกิดความสงสัยว่าในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ และอีกหลายจังหวัดภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้อย่างไร จึงได้นำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ คือ เครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน มาติดตั้งในพื้นที่เพื่อวัดคลื่นสั่นสะเทือนว่าจะยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่อีกหรือไม่ ถ้ามีแล้วความรุนแรงขนาดไหน เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปแจ้งข่าวกับประชาชนอย่างถูกต้องชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดความตื่นตระหนก รวมถึงสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ว่าจะต้องดำเนินการรับมืออย่างไรด้วย
ซึ่งเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินที่นำมาติดตั้งครั้งนี้ ค่อนข้างมีความไวมาก ดังนั้น หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในพื้นที่ระยะ 10 – 20 กิโลเมตร ก็จะส่งสัญญาณคลื่นได้อย่างชัดเจน ว่าจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บริเวณไหน และนอกจากเครื่องของกรมทรัพยากรธรณีที่นำมาติดตั้งแล้ว ก็ยังมีเครื่องจากพันธมิตรอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้นำเครื่องมาติดตั้งกระจายตามจุดต่างๆ ในพื้นที่อีก 12 เครื่องด้วย อีกทั้งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ก็จะนำเครื่องมาติดตั้งเพิ่มอีก 2 เครื่องด้วย ซึ่งหากมีเครื่องมือในการตรวจวัดมากแค่ไหน ก็จะทำให้เกิดความละเอียดและแม่นยำ ของตำแหน่งในการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้นด้วย จากนั้นจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปแปรความหมายทางวิทยาศาสตร์ ที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาเกิดจากสาเหตุอะไร หากไม่ได้เกิดจากรอยเลื่อนแล้วสามารถเป็นอะไรได้ แต่ก็ขอเวลาให้ทางกรมทรัพยากรธรณี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจสอบและศึกษาทางวิชาการอย่างละเอียด หากได้ข้อมูลที่ชัดเจนจะได้แจ้งให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง
ซึ่งเบื้องต้นมีกำหนดจะติดตั้งเครื่องไว้ราว 1 เดือนก่อน จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก ให้รอฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น.