วันที่ 30 ก.ค.67 นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการ ผู้ว่าการการยางแห่งประทศไทย (กยท.) ร่วมหารือสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย (TATMA) พร้อมด้วย 7 บริษัทผู้ผลิตยางล้อยักษ์ใหญ่ของไทย เตรียมความพร้อม ‘ตรวจสอบย้อนกลับในระดับการผลิต’ และวางแนวทางออกเอกสารส่งออก-นำเข้ายางพาราไทยสู่สหภาพยุโรป

นายสุขทัศน์  ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า ไทยเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยางล้อเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในปี 2566 มีการส่งออกยางล้อกว่า 139 ล้านเส้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 241,928 ล้านบาท  การหารือร่วมกันระหว่าง กยท. และสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย (Thai Automobile Tyre Manufacturers Association: TATMA)  ซึ่งสมาชิกของสมาคม TATMA มีทั้งผู้ประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์หลัก สมาชิกสมทบ และตัวแทนจำหน่าย โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนของ 7 บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย ได้แก่ โยโกฮามา (YOKOHAMA) กู๊ดเยียร์ (GOODYEAR) คอนติเนนทอล (Continental) บริดจสโตน  (BRIDGESTONE) สยามมิชลิน (MICHELIN SIAM) ซูมิโตโมรับเบอร์ (Sumitomo Rubber) และแม็กซิส (MAXXIS) เข้าร่วมหารือ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางรถยนต์ โดยการกำหนดและดำเนินมาตรการนโยบายด้านการวิจัยและการศึกษา เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของยางพาราสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมยางของไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงสวัสดิการของกลุ่มผู้ใช้ยางของสมาคม ซึ่ง TATMA ได้เสนอให้รัฐบาลไทยยกระดับกฎระเบียบด้านมาตรฐานของไทยที่มุ่งควบคุมตลาดภายในประเทศ ให้กลายเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมศักยภาพในการส่งออก หวังจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย 

“สมาคมฯ มีความเชื่อมั่นในระบบและกระบวนการบริหารจัดการที่ กยท. ได้วางไว้ แต่ยังคงห่วงใยเรื่องปริมาณผลผลิตที่จะป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งขณะนี้ กยท. มีความพยายามอย่างยิ่งในการบริหารจัดการผลผลิตยางภายใต้กฎระเบียบ EUDR ให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยางล้อในไทย พร้อมผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับสมาคมยางล้อทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศญี่ปุ่น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยต่อไป” นายสุขทัศน์ กล่าว