วันที่ 30 ก.ค.67 นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (30 ก.ค. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 41,698 ล้าน ลบ.ม. (55% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 17,757 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 34,639 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,037 ล้าน ลบ.ม. (40 % ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,341 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 14,834 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำทางตอนบนลดน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี c.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 877 ลบ.ม./วินาที โดยจะอาศัยในช่วงที่ปริมาณน้ำเหนือลดลง ใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการบริหารจัดการ เร่งพร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ระบายลงสู่อ่าวไทยให้มากที่สุด ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ส่วนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น จะรับเข้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ และใช้ระบบชลประทานรวมทั้งสถานีสูบน้ำในพื้นที่ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
ทางด้านสถานการณ์แม่น้ำมูล มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 1,238 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยังไม่ส่งผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 6 - 8 ร่วมกันพิจารณาปรับการระบายน้ำและจัดจราจรน้ำให้เหมาะสม
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. 67 ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ยังคงติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมสั่งการให้ทำการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับปริมาณฝนที่กำลังจะมาเพิ่มในระยะต่อไป และเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด