กรมปศุสัตว์ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ ได้ดำเนินการวิจัย พัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ไก่เบตง เพื่อให้ได้ไก่เบตงพันธุ์แท้ ที่มีสมรรถภาพการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตไข่สูง สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการเลี้ยงในพื้นที่ได้ดี พร้อมทั้งการกระจายพันธุกรรมไก่เบตงพันธุ์แท้ สู่เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ ประเภทปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์ ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตลูกไก่ ส่งต่อไปยังเครือข่ายฯ ประเภทใช้ประโยชน์พันธุกรรมและเทคโนโลยี นำไปเลี้ยงขุนผลิตเนื้อไก่เบตง สู่ผู้บริโภคต่อไป
นางสาวมยุรา แซ่ฉั่ว นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ นอกจากจะมีภารกิจในการวิจัย พัฒนา ปรับปรุงพันธุ์แพะแกะแล้ว ยังมีการปรับปรุงพันธุ์ไก่เบตง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของเกษตรกรในพื้นที่ โดย ปัจจุบันศูนย์ฯ มีการเลี้ยงไก่เบตง พ่อพันธุ์ จำนวน 60 ตัว และแม่พันธุ์ จำนวน 300 ตัว มีเป้าหมายในการผลิตลูกไก่เบตง ปีละ 16,500 ตัว เพื่อกระจายพันธุ์ให้เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ และเกษตรกรที่สนใจ สำหรับนำไปเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ผลิตลูกไก่ ส่งต่อให้ผู้เลี้ยงไก่ขุนต่อไป ลักษณะประจำพันธุ์ของไก่เบตง คือ ลักษณะหงอน เป็นหงอนจักรสีแดง ผิวหนัง ปาก แข้ง ขา นิ้วเท้า และเล็บเท้ามีสีเหลือง ขนปีกและขนหางสั้น ไม่มีขนแข็ง ส่วนลักษณะทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ เริ่มให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 168 วัน ผลผลิตไข่ปีละ 133 ฟอง/ตัว น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ หนัก 3.0 กิโลกรัม ส่วนเพศเมีย หนัก 2.2 กิโลกรัม
นายอรรถพล แสนพันทา ปศุสัตว์จังหวัดยะลา กล่าวว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่เบตง แก่สมาชิกเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างรายได้แก่ครัวเรือนของเกษตรกร เนื่องจากไก่เบตงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในด้านคุณภาพซากที่ดี เนื้อมีความนุ่ม หนังกรุบกรอบ รสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้ไก่เบตงจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดันไก่เบตงให้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดยะลา หากทำสำเร็จจะทำให้มูลค่าทางการตลาดของไก่เบตงเพิ่มขึ้น สามารถขยายการเลี้ยงไก่เบตงให้เป็นอาชีพแก่เกษตรกรชาวยะลามากขึ้น
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงไก่เบตงหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เบตง สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาแพะแกะ ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โทร.0-7320-3218 และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดยะลา ถนนวงเวียน 3 อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โทร.0-7320-3787