เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส.ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ณัทกฤช น้อยคำปัน ผกก.4 บก.ปทส. นำทีมงานออกสืบสวนกรณีมีขบวนการทุจริตลักลอบดูดน้ำมันบริษัทบรรทุกหินภายในพื้นที่จังหวัดสระบุรีแห่งหนึ่ง โดยขบวนการดังกล่าวนี้ใช้วิธีการดูดน้ำมันออกจากถังน้ำมันรถสิบล้อทุกครั้งที่มีการใช้รถ จนบริษัทได้รับความเสียหายหลายแสนบาท

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. นำโดย พ.ต.ท.ธนพล ยอดกัณหา สว.กก.4 บก.ปทส. พร้อมทีมงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงสระบุรี ได้ซุ่มดูพฤติกรรมการขับรถของรถบรรทุกในพื้นที่ ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี จนบุกรวบจับกุมตัว นายปรมินทร์ (สงวนนามสกุล) พนักงานรับจ้างขับรถบรรทุกของบริษัทขนส่งหินแห่งหนึ่ง ได้ที่บริเวณริมถนน ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ขณะที่กำลังเอาสายยางมาถ่ายน้ำมันจากถังน้ำมันรถสิบล้อที่ตนขับ เพื่อขายแล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว โดยใช้โอกาสที่ตัวเองเป็นคนขับรถบรรทุกของบริษัทได้รับความไว้วางใจ และอ้างว่าสาเหตุที่ทำเพราะไม่มีเงินใช้ เมียกำลังท้องอยู่

พ.ต.อ.ณัทกฤช กล่าวว่า จากการสอบถามคำให้การ ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ให้การว่าทำร่วมกับเพื่อนเป็นขบวนการอีก 3 คน โดยกระทำการในลักษณะเดียวกันนี้มานานแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 จนถึงปัจจุบัน ร่วมกันก่อเหตุโดยแบ่งหน้าที่กันทำ เริ่มจากแต่ละคนจะลักดูดน้ำมันดีเซลจากรถบรรทุกที่ตนเองขับอยู่ ขณะที่ขับรถออกมาจากบริษัทมาจอดริมถนน ครั้งละ 1 ถัง ถังละ 18 ลิตร แล้วนำไปซุกซ่อนรวมกันบริเวณสวนป่าสัก สวนพฤกษศาสตร์พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เมื่อได้ครบจำนวน 4 ถังแกลลอน ตนกับเพื่อนจะสลับกันนำน้ำมันไปขายที่ร้านค้า รับซื้อน้ำมันในราคา ถังละ 450 บาท เมื่อได้เงินมาแล้ว จะนำมาแบ่งกันโดยวิธีการโอนเงิน หรือให้เป็นเงินสด หลังจากขายน้ำไปแล้ว จะนำถังแกลลอนเปล่ามาซุกซ่อน เพื่อเตรียมให้เพื่อนในกลุ่มอีก 3 คน มาเอาไปดูดน้ำนัน เพราะไม่สามารถเอาแกลลอนเปล่ากลับไปที่บริษัทได้ จนมาถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ในครั้งนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. จึงได้ร่วมกันสืบสวนจนพบตัวจึงได้ทำการจับกุมในครั้งนี้ โดยกล่าวหาว่า “ลักทรัพย์นายจ้างในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด” ก่อนส่งสถานีตำรวจภูธรหน้าพระลาน ดำเนินคดีต่อไป

การกระทำในลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาแล้ว ยังส่งผลต่อความเสียหายต่อยานพาหนะ ที่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และส่งผลด้านสิ่งแวดล้อม เพราะถังน้ำมันและอุปกรณ์มีการดัดแปลงจนส่งผลต่อมาตรฐานการควบคุมด้านมลพิษของรถ รวมไปถึง ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนสำคัญของยานพาหนะแบบไม่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้ใช้รถยนต์คนอื่นๆ อีกด้วย