ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ก.ค.67 นายกฤษฎา อินทามระ ฉายาทนายปราบโกง เดินทางมายื่นหนังสือถึง ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  เพื่อขอให้มีคำสั่งปิดโรงงานแป้งมันฉาวในจังหวัดนครราชสีมา 

โดย นายกฤษฎา เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากที่ตนเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าของโรงงานผลิตแป้งมันสำประหลังที่มีกำลังการผลิตสูงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดคือ มีการลักลอบปล่อยน้ำเน่าเสียลงไปในที่ดินของ สปก.เนื้อที่ 617 ไร่ สร้างความเดือดร้อนด้านมลภาวะทำให้น้ำเน่าเสียกระจายลงสู่พื้นดิน ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะน้ำเน่าเสียได้ส่งกลิ่นเหม็นเป็นบริเวณกว้างทำให้ชาวบ้าน นักเรียนตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานานกว่าสามสิบปี 

ล่าสุดเ มื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนและกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ พร้อมตัวแทนจาก ปปช. และปปท.  ได้ทำการรับมอบตัวผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ที่ จ.29/2567  ลงวันที่ 18 ก.ค.2567 

ในระหว่างการรับมอบตัว พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้พูดคุยพร้อมกำชับเจ้าของโรงงานให้ไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานและหยุดทิ้งน้ำเสียลงในที่ดินของ สปก.อีก เพราะที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนนับพันครัวเรือน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งหมดก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพที่ดินของ สปก.พบว่ามีการทิ้งน้ำเน่าเสียเป็นบริเวณกว้างรวมเนื้อที่ทั้งหมด 617 ไร่  

โดยนับตั้งแต่วันที่ 23 ก.ต.67 ซึ่งได้มีการเข้ามอบตัวแล้ว ตนพบว่าโรงงานก็ยังคงปล่อยน้ำเสียลงไปในที่ดินของ สปก.ตลอดมา แต่จะลักลอบปล่อยน้ำเสียตอนตี 3 เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ โดยตนพบหลักฐานใหม่เมื่อวันที่ 27 กค 2567 เวลา 14.00 น โรงงานเตรียมปล่อยน้ำเสียมาตามท่อลอดใต้ดินไปยังบ่อใหม่อยู่บริเวณตรงข้ามโรงเลี้ยงไก่ของนายป้อมและบังอาจ สั่งคนงานรื้อทำลายป้ายหวงห้ามแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของ ส.ป.ก.ที่นำไปติดไว้บริเวณ ทางเข้าบ่อขยะเทศบาลฯ ทุกป้ายออกไปแบบไม่ยำเกรงต่อกฎหมายการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ส่งผลทำให้เกิดอันตราย ความเสียหายความเดือดร้อนอย่างมากแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดทิ้งน้ำเน่าเสีย 

วันนี้ตนจึงต้องเดินทางมาขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 37 และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อระงับยับยั้งการกระทำของโรงงานแป้งมันแห่งนี้ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนนับพันครัวเรือนจะได้กลับคืนสภาวะปกติและดีขึ้นเป็นลำดับในเร็ววันนี้ และกล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรา 37 เป็นการออกคำสั่งให้โรงงานระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน พรบ.โรงงาน ด้วยการหยุดปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงานและแก้ไขหรือปรับปรุงหรือปฎิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
    
ส่วนมาตรา 39 หากโรงงานไม่แก้ไขปรับปรุงหรือไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงมอบหมายมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้โดยเฉพาะกรณีนี้โรงงานแป้งมันเป็นโรงงานจำพวก 3 จึงต้องถือว่าคำสั่งปิดโรงงานมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตด้วย โดยมี นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม มารับหนังสือไว้เสนอ ปลัดกระทรวงฯ ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการต่อตามกฎหมายต่อไป