"เรืองไกร" ร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน รมต.คลังว่ายื่นโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดสามวันใช้เวลาว่างตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีที่เปิดเผยในเว็บไซต์ ป.ป.ช. หลายรายมีข้ออันควรสงสัยที่กำลังตรวจสอบหาหลักฐานเพิ่มเติม  แต่มีบางรายมีเหตอันควรร้องต่อ ป.ป.ช.ได้คือ กรณีของนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รายได้และรายจ่าย ต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 นั้น มีข้อสังเกตหลายรายการที่อาจไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน กรณี จึงต้องยกแนวฎีกา และข้อกฎหมาย เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไปตามหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

ข้อ 1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของปี 2567 หลายคดี มีคำวินิจฉัยพอสรุปไว้เป็นแนวทางได้ว่า 
“ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อ ป.ป.ช.ภายในดำหนดเวลานับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ ป.ป.ช.เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องปฏิบัติ อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้เกิดการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ย่อมมีผลทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ตามมาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ต่อ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 167 ด้วย” 

ข้อ 2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 167 บัญญัติว่า “ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดตามมาตรา 28 (3) กรรมการตามมาตรา 42 หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 158 ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณีภายในเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์ อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ข้อ 3. ตามที่ ป.ป.ช. ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของนายพิชัย ชุณหวชิร กรณีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังความควรแจ้งแล้วนั้น

ข้อ 4. จากการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และ เอกสารประกอบของนายพิชัย ชุณหวชิร พบข้อสังเกตอันควรตรวจสอบ ดังนี้
- นายพิชัย ชุณหวชิร ยื่นบัญชีกรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567
- นายพิชัย ชุณหวชิร แจ้งว่า ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทจำกัด(มหาชน) ถึงสามแห่ง ทั้งที่มีข้อมูลว่า มีการลาออกก่อนมาเป็นรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นการแจ้งว่าปัจจุบันยังมีตำแหน่งดังกล่าวจึงน่าจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ส่วนจะเข้าข่ายเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะวินิจฉัย
- นายพิชัย ชุณหวชิร แจ้งรายได้ประจำรายการเดียวคือ เบี้ยประชุม+โบนัส จำนวน 8,911,896.95 บาท ซึ่งน่าจะเป็นรายได้ของปี 2566 เนื่องจากเป็นยอดที่ตรงกับเงินได้พึงประเมินในปีที่ผ่านมา จำนวน 8,911,896.95 บาท กรณีจึงมีข้อสังเกตว่า ทำไมไม่มีการแจ้งรายได้ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี คือระหว่างเดือน ม.ค.2567 ถึง เม.ย.2567 และไม่มีการแจ้งรายได้รัฐมนตรี คือระหว่างเดือน พ.ค.2567 ถึง ธ.ค.2567 และทำไมไม่มีการระบุยอดรายได้รวมตามแบบด้วย 
- นายพิชัย ชุณหวชิร แจ้งรายจ่ายไว้สองรายการคือ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 1,200,000 บาท ค่าเล่าเรียนบุตรจำนวน 3,000,000 บาท แต่แจ้งยอดรวม 4,500,000 บาท ซึ่งทั้งสองรายการรวมกันได้เพียง 4,200,000 บาท กรณีจึงควรสอบถามว่า ยอดที่เกินมาอีก 300,000 บาท คือค่าอะไร ลืมระบุ หรือบวกเลขผิด
- นายพิชัย ชุณหวชิร แจ้งรายละเอียดประกอบรายการเงินให้กู้ยืม รวมสามรายการ แต่มีข้อควรสงสัยคือรายการที่สอง เนื่องจากระบุวันเดือนปีที่ให้กู้ยืม คือ 15 ธ.ค.2563 จำนวนเงินกู้ตามสัญญา 5,000,000 บาท ยอดหนี้คงเหลือ ณ วันที่ยื่นรายการ 7,030,142.40 บาท กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า ยอดหนี้ที่สูงกว่ายอดเงินกู้ตามสัญญา จำนวน 2,030,142.40 บาท ซึ่งมีเศษสตางค์ด้วยนั้น เป็นค่าอะไร คำนวณมาจากอะไร มีเอกสารประกอบหรือไม่  

นายเรืองไกร สรุปว่า วันนี้ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่ายื่นโดยถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ 

#เรืองไกร #ปปช #ข่าววันนี้ #บัญชีทรัพย์สิน #พิชัยชุณหวชิร