มูลค่าส่งออกเดือน มิ.ย. หดตัว 0.3% YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน ปัจจัยหลักจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งกลับมาหดตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้จำกัด สำหรับการนำเข้าเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 0.3%YoY โดยดุลการค้าเดือน มิ.ย. เกินดุลที่ 218.0 ล้านดอลลาร์ฯ

Krungthai COMPASS ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ทั้งนี้เครื่องชี้ด้านการผลิตของประเทศหลักมีสัญญาณลบ โดยเฉพาะตัวเลข Flash PMI Manufacturing ทั้ง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างหดตัวในเดือน ก.ค. ส่วนเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากดัชนียอดค้าปลีกที่ชะลอตัวลง และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

มูลค่าส่งออกเดือนมิถุนายน 2567 หดตัว 0.3%YoY

มูลค่าส่งออกเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,796.6 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวเล็กน้อย 0.3%YoY กลับมาติดลบอีกครั้งในรอบ 3 เดือน จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งออกที่เร่งตัวเมื่อเดือน พ.ค. หลังจากที่ผลิตผลด้านการเกษตรเผชิญปัญหาภัยแล้ง จึงออกสู่ตลาดล่าช้าและเหลื่อมเดือนจากปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้จำกัด สำหรับการส่งออกทองคำขยายตัวแรงถึง 184.1%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้จะติดลบ 1.7% ทั้งนี้การส่งออกช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.5%YoY

ด้านการส่งออกรายสินค้าสำคัญบางส่วนขยายตัว

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.3%YoY ชะลอตัวลง เมื่อเปรียบเทียบจากเดือนก่อนที่ 4.2%YoY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+22.0%) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+20.1%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+13.5%) และ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (+7.2%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-24.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (-21.4%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-7.9%) เม็ดพลาสติก (-6.3%) และเคมีภัณฑ์ (-5.5%) เป็นต้น

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 3.3%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัวสูง  19.3%YoY ตามการกลับมาหดตัวของสินค้าเกษตรที่ 2.2%YoY และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งติดลบ 4.8%YoY ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+147.7%) ข้าว (+96.6%) ยางพารา (+28.8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+13.1%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+6.0) และไก่แปรรูป (+4.0%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย (-51.9%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (-37.8%) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง (-13.4%) และเครื่องดื่ม (-9.5%) เป็นต้น

ด้านการส่งออกรายตลาดสำคัญบางส่วนขยายตัว

สหรัฐฯ : ขยายตัว 5.4%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกครึ่งปีแรก ขยายตัว 11.2%) 

จีน : กลับมาหดตัวที่ 12.3%YoY โดยมีสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกครึ่งปีแรก ขยายตัว 1.2%)

ญี่ปุ่น : หดตัวที่ 12.3%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกครึ่งปีแรก หดตัว 7.5%)

EU27 : กลับมาขยายตัว 7.9%YoY สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น (ส่งออกครึ่งปีแรก ขยายตัว 4.4%)

ASEAN-5 : หดตัว 2.0%YoY ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น (ส่งออกครึ่งปีแรก หดตัว 2.7%)

มูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 24,578.5 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3%YoY เทียบจากเดือนก่อนที่หดตัว 1.6%YoY จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+6.3%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (+1.3YoY) ขณะที่สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-22.2%YoY) และสินค้าทุน (-2.0%YoY) ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าเชื้อเพลิง (-3.8%YoY) ที่กลับมาติดลบ ดุลการค้าเดือน มิ.ย. เกินดุลต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกันที่ 218.0 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนดุลการค้าช่วงครึ่งปีแรกขาดดุล 5,242.7 ล้านดอลลาร์ฯ

Krungthai COMPASS ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่มีสัญญาณชะลอตัวจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 ให้ฟื้นตัวได้จำกัด โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิต Flash PMI Manufacturing เดือน ก.ค. ของประเทศหลักต่างหดตัวจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับลดลง โดยสหรัฐฯ กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ส่วนญี่ปุ่นกลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน ขณะที่ยุโรปหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 25 นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง สอดคล้องกับดัชนียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคล่าสุดของจีนที่ชะลอตัวลงในเดือน มิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจีนซึ่งปรับลดลงต่อเนื่อง บ่งชี้แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อสินค้าต่างประเทศของจีน ซึ่งรวมไปถึงสินค้าส่งออกจากไทย  โดยการส่งออกไทยไปจีนเดือนล่าสุดกลับมาหดตัวที่ -12.3%YoY ทั้งนี้ เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักที่ต่างชะลอตัว สะท้อนว่าอุปสงค์ที่มีต่อสินค้านำเข้าของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้เติบโตได้ต่ำ อีกทั้ง ในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สะท้อนจากค่าระวางเรือตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด (25 ก.ค.) ปรับขึ้นสู่ระดับ 5,806 ดอลลาร์ต่อตู้ หรือขยายตัว 9.2% จากเดือนก่อน

#ข่าววันนี้ #ส่งออก #ดัชนีเชื่อมั่น #ค่าเงินบาท #KrungthaiCOMPASS