"รมว.ธรรมนัส" ลงพื้นที่ด่วนติดตามสถานการณ์น้ำและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัย จันทบุรี-ตราด
วันที่ 29 ก.ค.67 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ นายเดช เล็กวิชัย นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย 1,200 ชุด และน้ำดื่ม 1,000 แพ็ค และเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ตำบลปฐวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ก่อนจะเดินทางไปยัง องค์การบริหารส่วนตำบลสะตอ อำเภอเขาสมิงจังหวัดตราด
สำหรับภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องและเกิดน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอขลุง โครงการชลประทานจันทบุรี ได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำกลางคลองและปลายคลองภักดีรำไพ เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากเทือกเขาสระบาปให้ไหลลงสู่คลองภักดีรำไพ และระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย ตามลำดับ เป็นการตัดยอดน้ำในแม่น้ำจันทบุรี ที่จะผ่านตัวเมืองจันทบุรีได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมบูรณาการร่วมกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศแจ้งเตือนประชาชนทุกอำเภอที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัย พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการเข้าช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่จังหวัดตราด มีฝนตกหนักสะสมเช่นกัน ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาสมิง และอำเภอแหลมงอบ โครงการชลประทานตราด ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และได้ประสานหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือให้เข้าถึงพื้นที่โดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการขยายตัวของพื้นที่ประสบภัยเพิ่มเติม พร้อมลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อเร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น รวมทั้งประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อวางแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วน ตลอดจนถอดบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป