เปิดเงื่อนไขวิธีจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตกับร้านค้าหลังได้เงินหมื่นบาททำอย่างไร!
โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยครอบคลุม 878 อำเภอ ในการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจ เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนเป็นการวางรากฐานโครงสร้างรัฐบาลดิจิทัลซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัลในอนาคต
กำหนดลงทะเบียนรับสิทธิเงินดิจิทัลวอลเล็ต
1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 สำหรับประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนผ่านแอปฯทางรัฐ
16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567 สำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน
22 กันยายน 2567 เป็นต้นไปแจ้งผลผู้ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านการแจ้งเตือนในแอปทางรัฐ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567
คุณสมบัติและข้อกำหนดการเข้าร่วมโครงการสำหรับประชาชน
1.เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
2.สัญชาติไทย
3.มีอายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน
4.ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566 โดยกรมสรรพากรประมวลผลข้อมูล ผู้มีรายได้ 7 วัน ก่อนเปิดลงทะเบียนโครงการ
5.ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 รวมกันเกิน 500,000 บาท โดยเป็นการตรวจสอบเงินฝาก จำนวน 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใด ที่มีลักษณะเดียวกับที่กล่าวมา โดยเงินฝากให้หมายถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม
6.ต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ ผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ และผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆของรัฐ
วิธีการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการร้านค้า การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ ประชาชนสามารถใช้ได้ในพื้นที่ระดับอำเภอทั่วประเทศ (878 อำเภอ)
1.การชำระเงินภายใต้โครงการเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) โดยจะต้องตรวจสอบจาก
-ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการ
-ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการฯ
-ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์
2.ประชาชนจะต้องใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
3.ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันที หลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป
4.เงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการได้
4.1.สินค้าทุกประเภทเข้าร่วมโครงการได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมัน เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องมือสื่อสาร ทั้งนี้ การปรับปรุงสินค้า Negative List ให้เป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ พิจารณากำหนด
4.2.การใช้จ่ายตามโครงการ ไม่รวมถึงธุรกิจบริการ(เงื่อนไขของสินค้า ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า และการใช้จ่ายระหว่างร้านค้า)
5.วิธีการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้ ดังนี้
รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านค้าสะดวกซื้อขนาดเล็ก
5.1.ประชาชนต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นร้านค้าขนาดเล็กจนถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
5.2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
5.3.เป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยประชาชนต้องมีที่อยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอเดียวกันกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก
5.4.การซื้อ-ขายสินค้า ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการทำธุรกรรมซื้อขายและสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้ากันแบบพบหน้า (face-to-face) และไม่มีกระบวนการใด ๆ ในการซื้อขายที่ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือผ่านคนกลาง ไม่ว่าด้วยวิธีการใด และไม่ให้ทำซ้ำ ส่งต่อหรือวิธีการอื่นใดกับ QR Code ในแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมแบบพบหน้าดังกล่าว
รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
1.ผู้ประกอบการร้านค้าต้องชำระค่าสินค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอีกแห่งหนึ่ง
2.ต้องมีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง
ร้านค้าที่จะสามารถถอนเงินสดได้ เฉพาะร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ได้แก่
1.1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ
1.2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ
1.3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
เว้นแต่ร้านค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีข้างต้นต้องมีการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี ดังนี้
1.กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ในปี 2565 และ 2566 ติดต่อกัน 2 ปี
2.กรณีร้านค้าที่ประกอบกิจการน้อยกว่า 2 ปี จะต้องเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดต่อกันตั้งแต่เริ่ม ประกอบกิจการจนถึงปัจจุบัน
3.ร้านค้าใหม่ที่ยังไม่ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในปีภาษีแรกหรือรอบระยะเวลา บัญชีแรกจะพิจารณาจากการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น
#ดิจิทัลวอลเล็ต #ลงทะเบียนทางรัฐ #ข่าววันนี้ #แอปทางรัฐ #ร้านค้า #ถอนเงินสด