"ศิริกัญญา" เชื่อ”ก้าวไกล”รอดคดียุบพรรคชัวร์ ลั่นพร้อมนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แย้มมีชื่อพรรคใหม่รองรับหาก”ก้าวไกล”ถูกยุบแล้ว ประกาศชน"อุ๊งอิ๊ง” ระดมสาวกสีส้มฟังคำวินิจฉัย 7 ส.ค. ด้าน”สุวัจน์”ยันแกนนำรัฐบาลพบกับ 'ทักษิณ' ที่เขาใหญ่ไม่มีนัยทางการเมือง ขณะที่"ครูมานิตย์"ให้โอกาส สว.ทำงาน เชื่อดีกว่าชุดก่อน
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.67 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลปล่อยคลิปวิดีโอโหมโรงก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรค ซึ่งมีบทสัมภาษณ์ของตนมากกว่าคนอื่น ทำให้ถูกมองว่าอาจจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ว่า คลิปนี้ถ่ายไว้สักพักแล้ว เป็นช่วงที่มีการประชุมสามัญประจำปี แต่พอมีเรื่องต่างๆ เข้ามา ก็เลยเพิ่งมาปล่อยในช่วงนี้ ถ้าจะมีตนมากหน่อยก็น่าจะเป็นเพราะตนอยู่มานานกว่าคนอื่นในพรรค ตั้งแต่สมัยอนาคตใหม่ เพราะตอนนั้นเข้ามาทำงานเป็นสตาฟในการฐานะผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย จึงมีไทม์ไลน์อาจจะยาว เนื่องจากอยู่มานานกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า วันที่ 7 ส.ค.ก็จะเป็นการตัดสินครั้งที่สำคัญเหมือนกัน เราก็คิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งก็คงจะเกิดข้อกังวลไม่แพ้กับเราเหมือนกัน อาจจะจำเป็นที่จะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างความมั่นใจว่าอย่างไรพรรคก็คงเดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
สำหรับกรณีหากพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรค หากได้รับเลือกพร้อมจะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งผลก็ออกได้หลายทาง เราก็คิดว่าการต่อสู้ของเรายังคงมีน้ำหนักและข้อเท็จจริง ก็มีความพร้อม ในด้านเทคนิค ด้านกฎหมาย เราก็มีข้อต่อสู้ที่แข็งแรง เราคงคาดหวังว่าวันที่ 7 ส.ค. นี้ เราจะรอดพ้นจากการต้องถูกยุบพรรคอีกครั้งหนึ่งแน่นอน แต่ต้องบอกว่าถึงแม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็มีการเตรียมความพร้อมไว้เป็นอย่างดี เนื่องจากครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก การเตรียมความพร้อมก็จะยิ่งพร้อมกว่าเดิม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค ต้องสู้กับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และจะกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยพลังหญิง น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าท้ายที่สุด พรรคตัดสินใจเสนอชื่อตน และมีสมาชิกพร้อมจะเลือก การที่ ณ วันนี้ ประเทศไทยมีผู้นำพรรคการเมืองที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นมิติใหม่ที่ดี นอกจากเป็นตัวแทนของประชาชนทุกฝั่ง ทุกเพศ ทุกวัย เราก็จะยิ่งมีมุมมองใหม่ๆ ต่อการเมืองที่อาจแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่ผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เราก็คิดว่าจะสร้างมิติใหม่ให้กับการเมืองไทยได้ เมื่อถามย้ำว่า ไม่ติดใช่หรือไม่ ถ้ามีคนเสนอชื่อ น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า “ค่ะ แล้วแต่ทางพรรค”
ส่วนขณะนี้ได้ข้อสรุปหรือยังเรื่องพรรคใหม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มีการเตรียมไว้บางส่วน เราก็ไม่อยากให้กลายเป็นลางที่ไม่ดี แต่เราก็มีการเตรียมไว้แล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจริง ก็พร้อมที่จะไปอยู่บ้านหลังใหม่ด้วยกัน เมื่อถามว่า ถึงขั้นเตรียมชื่อพรรคใหม่ไว้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า “ยังค่ะ”
สำหรับคดีการเข้าชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะสร้างความกังวลหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่มีความกังวล ตอนนี้เราก็เริ่มกระบวนการที่จะเตรียมความพร้อมในการให้ปากคำ ซักซ้อมทำความเข้าใจแล้ว มีการพูดคุยว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นได้บ้าง ทั้งเรื่องคดี ทนายความ แต่ ป.ป.ช. ยังไม่ได้เรียกแต่อย่างใด
วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก "พรรคก้าวไกล - Move Forward Party" โพสต์ข้อความ ระบุว่า Exclusive Lecture: ปิยบุตร แสงกนกกุล 7 สิงหาคมนี้ เวลา 13.30 น. ก่อนรับฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษจาก ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง"
เจอกันที่พรรคก้าวไกล พร้อมกิจกรรมต่อเนื่องยาวไปถึงหลังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะก้าวต่อไปด้วยกัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก "พรรคก้าวไกล - Move Forward Party" โพสต์ข้อความ ระบุว่า "เรียน ประชาชนที่เคารพ เนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ในข้อหาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"
"ในโอกาสสำคัญนี้ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียนเชิญประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ และเจ้าของพรรคก้าวไกลทุกท่าน มาร่วมรับฟังคำวินิจฉัยพร้อมกัน ณ อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยเราจะมีกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ขออภัยที่มิได้มาเรียนเชิญด้วยตนเอง พรรคก้าวไกล"
"หมายเหตุ ขอเชิญท่านที่มาร่วมงาน สวมใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์พรรคก้าวไกลมาโดยพร้อมเพรียงกัน และเรามีเสื้อคอลเล็คชั่นใหม่ล่าสุด Limited Edition ออกแบบมาเพื่อวันรับฟังคำวินิจฉัยศาลโดยเฉพาะ จัดจำหน่ายที่ที่ทำการพรรคเท่านั้น ช้าหมด อดแน่!"
ด้าน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาประเทศของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ว่า ตอนนี้ต้องเร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของเรายังไม่โตตามเป้าหมาย การกระตุ้นและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้จะต้องสร้างกำลังซื้อ สร้างกิจกรรมเศรษฐกิจภายใน คิดว่าเรื่องที่จะช่วยได้คือ 1.เรื่องงบประมาณแผ่นดิน ทั้งปี 2567-2568 ถ้าเร่งรัดใช้ปี 2567 และเร่งของปี 2568 ให้สามารถดำเนินการให้รวดเร็วได้ เม็ดเงินจำนวนมาก 3 ล้านล้านกว่าบาท จะมาช่วยเศรษฐกิจได้
2.โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีก 4-5 แสนล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนเอามาใช้จ่าย ฉะนั้น โดยภาพรวมวันนี้นอกจากจะต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันแล้ว เฉพาะหน้าต้องลงมากระตุ้นเศรษฐกิจกันทั้งเงินของภาครัฐและเงินภาคประชาชน คิดว่าประมาณปลายปีนี้น่าจะเห็นการขยับเขยื้อนตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ
"ที่สำคัญตอนนี้คือต้องเร่งโปรโมตเรื่องการท่องเที่ยว ต้องทุ่มเทเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ลองสร้างแผนงานอะไรก็ได้ที่จะปรับแผนงานนักท่องเที่ยวปีนี้ ต้องเอาให้ได้ 40 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยพี่น้องประชาชนได้เร็วที่สุด ให้ทุกคนลอยคอได้ ไม่จมน้ำ นักท่องเที่ยวเข้ามาจะมีการใช้จ่ายไปยังทุกอาชีพ ทุกเมือง ทั้งเมืองรอง เมืองหลัก ฉะนั้น ระยะสั้นต้องอาศัยการท่องเที่ยวมากๆ ผมคิดว่าถ้าทำได้ก็พยายามปรับแผนเร่งรัดเพิ่มนักท่องเที่ยว 35-36 ล้านคน ดันให้เต็มที่ถึง 40 ล้านคน ก็จะช่วยวิกฤตเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง"
นายสุวัจน์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวดีลเขาใหญ่ "ปฏิญญาเขาใหญ่" ที่มีการพบกันกับอดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ว่า เท่าที่ตนอยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่มีอะไร อดีตนายกฯ ทักษิณบอกว่าไม่ได้มาเขาใหญ่ตั้ง 20 ปีแล้ว และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เชิญคุณพ่อมาเที่ยว ไปเที่ยวที่สนามกอล์ฟ แล้วก็ได้เชิญตนไปร่วมงานด้วย บรรยากาศเหมือนกับท่านมาเที่ยวเขาใหญ่
ส่วนตนกับนายอนุทินก็เป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมรัฐบาลท่านอยู่แล้ว เหมือนกับท่านมาเจอลูกน้องเก่า มาเจอพี่น้องประชาชนที่ไปต้อนรับบ้าง แต่สำคัญที่สุดเหมือนกับการมาใช้เวลาช่วงวันหยุดกับครอบครัว ไม่ได้มีนัยทางการเมือง ไม่ได้มีปฏิญญาเขาใหญ่ตามที่เป็นข่าว คิดว่าเป็นการคาดการณ์ เป็นการวิเคราะห์ แต่เนื้อหาจริงๆ เท่าที่อยู่ในเหตุการณ์ไม่มีอะไรอย่างนั้น ไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่เรื่องการบ้าน เรื่องครอบครัว เรื่องลูกน้องกับท่านทักษิณ
"ผมเคยเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาสมัยท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายอนุทินก็เคยร่วมรัฐบาล บรรยากาศการพบเจอกันค่อนข้างอบอุ่น อุ๊งอิ๊งก็ชวนคุณพ่อมาพักผ่อนช่วงวันหยุด ยืนยันว่าไม่มีนัยทางการเมือง เป็นเรื่องของบุคคลที่เคารพนับถือกัน คุ้นเคยกัน สำหรับพรรคชาติพัฒนาที่ได้รับคำเชิญจากท่านทักษิณเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้ได้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว ผมทำงานกับท่านมานาน รู้จักท่านมานาน ถือว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ท่านจะมีความหวังดี มีความปรารถนาดีต่อผมมาตลอด"
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า เรื่องหน้าตาของ สว.ตอนนี้ออกมาแล้ว รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลต่อนี้ไปจะมั่นคงไปครบเทอม ถือเป็นครั้งแรกที่เรามีระบบการได้มา สว.ลักษณะนี้ ฉะนั้น อาจเป็นอะไรที่เราไม่มีประสบการณ์กับรูปแบบในการได้ สว.แบบนี้ หลากหลายอาชีพ 20 อาชีพตามเป้าหมาย แต่ก็เสียดายที่ไม่ได้หลากหลายจังหวัด บางจังหวัดไม่มีตัวแทน คงต้องเป็นภารกิจหน้าที่ของ สว.คนใหม่ทั้ง 200 คนว่าจะทำงานอย่างไรให้เป็นการพิสูจน์ว่าระบบการได้มาครั้งนี้สามารถที่จะสร้างเจ็นใหม่ๆ หรือสร้างแนวคิดวิธีการใหม่ๆ ในการทำหน้าที่ของ สว.
"อยากจะฝากให้ท่านได้ดูแลในหลายๆ จังหวัดที่ยังไม่มี สว.ที่มีพื้นฐานจากจังหวัดนั้น โดยภาพรวมจะต้องดูการทำงานของท่านไป เพราะทุกคนมาด้วยความถูกต้อง มาตามรัฐธรรมนูญ สว.ใหม่มาแล้ว แต่รัฐบาลก็ใกล้ 1 ปี ตอนนี้เสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร คิดว่าด้วยความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้เท่าที่ดูก็ยังไม่มีประเด็นอะไรที่จะเป็นร่องรอยว่ามีอะไรไม่เข้าใจ หรือขัดแย้งกัน ยังมีความเรียบร้อย มีความสามัคคีกันอยู่ เรื่องเสียงในสภาก็ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ต้องดูศาลรัฐธรรมนูญด้วยในการตัดสินคดีที่สำคัญที่จะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลขณะนี้ก็จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้ อันนั้นคือโจทย์ใหญ่มากกว่าเสถียรภาพของรัฐบาล"
ด้าน นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สายสีน้ำเงิน คุมสภาสูง ว่า มันต้องติดตามดูผลงานก่อน ตอนนี้ยังไม่สามารถวิจารณ์ได้ เรื่องการคัดสรร สว. ผิดพลาดมาตั้งแต่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดกฎเกณฑ์มา ตอนนี้ นายมีชัย อาจจะมีความสุขกับการกำหนดกฎหมายที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นผลแบบนี้ ทำให้ประชาชนได้วิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้งแบบพิสดารแบบนี้หรือไม่
นายครูมานิตย์ กล่าวว่า เมื่อผลออกมาแบบนี้ก็ไปโทษ สว.ไม่ได้ ต้องให้โอกาสว่าเขาจะทำงานออกมาอย่างไร แล้วค่อยวิจารณ์กัน ต้องเชื่อมั่นเขา อย่างน้อยก็ดีกว่า สว.ชุดที่ผ่านมาแน่นอน เพราะยังได้พูดคุยกับ สส.ได้ เพราะที่มาของเขาแม้จะซับซ้อนพิสดาร แต่ก็มาจากพลเรือน รู้จักกับ สส. รู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ และมองว่าคงไม่ส่งผลอะไรกับสภาล่าง เพราะเขาก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ จากนี้ก็ต้องดูการพิจารณากฎหมายจากสภาล่าง การเลือกตั้งองค์กรอิสระ วันนี้ไปสรุปอะไรและไปดูถูกดูแคลนไม่ได้ แต่ดีกว่าชุดที่แล้วแน่นอน
นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว.กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ฐานะผู้เตรียมยื่นร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ต่อที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 2 ส.ค. ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีที่สว.แสดงความเห็นคัดค้านต่อการลดจำนวนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ จาก 26 คณะ และมีความเข้าใจว่าได้ตัดกมธ.วิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่า ตนได้โทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับนายปฏิมา จีระแพทย์ สว. ที่เข้าใจว่าร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาที่ตนนำเสนอต่อสว.นั้นตัดส่วนกมธ.วิสามัญญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันฯ แล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นความเข้าใจผิดของนายปฏิมาเนื่องจากไม่ได้มีการตัดกมธ.วิสามัญคณะดังกล่าวออกไปจากร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่แก้ไขเพิ่มเติมจากข้อบังคับ ปี2562 ดังนั้นจึงคงกมธ.วิสามัญดังกล่าวไว้ และได้เพิ่มเติมกมธ.วิสามัญอีก 2 คณะ คือ กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และ กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ผมได้โทรศัพท์ชี้แจงกับสว.ปฏิมาโดยส่วนตัวแล้ว แต่ดูเหมือนท่านยังสงสัยอยู่ ผมจึงขอให้ท่านอ่านร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาที่เผยแพร่ไปแล้วอีกครั้ง โดยเทียบกับข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาปี2562 ผมยืนยันว่าไม่ได้ตัดกมธ.วิสามัญเทิดทูนสถาบัน แต่การที่สว.ปฏิมา สื่อสารไปแบบนั้นทำให้สว.ส่วนใหญ่ไขว้เขว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนร่างที่เสนอไป ผมจึงขอให้สว.ได้อ่านรายละเอียด แต่หากไม่มีเวลา ควรให้ผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสว. ที่มี 7-8 คนช่วยอ่าน”
นายสรชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขข้อบังคับวุฒิสภาที่ตนและคณะเสนอนั้นอยากให้ สว.ได้อ่านหากมีประเด็นใดที่ไม่เห็นด้วย ให้พูดคุยกันเพื่อปรับปรุง ตนยืนยันว่าการทำงานของตนนั้นทำด้วยความโปร่งใส ต้องการให้เกิดการทำงานร่วมกัน ดีเบตความคิดเห็นก่อน ทั้งนี้หากทุกคนเห็นร่วมกัน ตนจึงคิดว่าอาจขอตั้งกรรมาธิการเต็มวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้เสร็จ 3วาระรวด และมีข้อบังคับไว้ใช้ทำงาน ได้รวดเร็ว ทั้งนี้หากมีประเด็นใดที่สว.ยังไม่เข้าใจตนพร้อมชี้แจง อย่างไรก็ดีการนัดประชุมวุฒิสภา วันที่ 2 ส.ค.หากยังมีประเด็นที่สว.ไม่เข้าใจ ตนอาจยังไม่เสนอการแก้ไขข้อบังคับ แต่จะขอให้หารือร่วมกันก่อน แต่หาก สว.กลุ่มใดจะยื่นญัตติเพื่อแก้ไขเป็นเรื่องของสว.แต่ละกลุ่ม
“ผมอยู่ในกลุ่มสว.ส่วนใหญ่ แต่ต้องการทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน เพราะหากจะพิจารณาสามวาระรวดต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ขัดแย้ง อย่างไรก็ดีการเสนอให้ลดจำนวนคณะกรรมาธิการ ตามร่างข้อบังคับที่ผมเสนอจาก 26 คณะ เหลือ 23 คณะนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน สว.ที่มีปัจจุบันและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บางภารกิจของสว.นั้นสิ้นสุดแล้ว เช่น การติดตามการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ หรือ หน้าที่ตามบทเฉพาะกาลที่ยุติลงแล้ว เป็นต้น” นายสรชาติ กล่าว
ส่วน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กลุ่มสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 2 ส.ค. ตนและคณะเตรียมเสนอร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ให้ที่ประชุมพิจารณา โดยเบื้องต้นจะเป็นคนละฉบับกับของนายสรชาติ และของสว.พันธุ์ใหม่ โดยจะเป็นข้อบังคับที่ผสมสารการตรวจสอบรัฐบาลและ บทบาทของสว.ที่มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งรายละเอียดนั้นอยู่ระหว่างการพูดคุย