นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร เตรียมเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 ก.ค. นี้ ซึ่งการตั้งงบประมาณ 90,000 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณและหน่วยงานในกำกับมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินการกิจตามอำนาจหน้าที่และขับเคลื่อนนโยบายตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนพัฒนา กรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่3 (พ.ศ.2566 - 2570 ) แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2568 แผนปฏิบัติราชการประจำปี พ.ศ. 2568 ของหน่วยรับงบประมาณสอดคล้องกับสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กทม. ได้กำหนดนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ดังนี้ 1. ดำเนินนโยบาย งบประมาณแบบสมดุลภายใต้กรอบประมาณการรายรับ เพื่อความยั่งยืนทางการคลัง และความจำเป็นของการใช้จ่ายในการจัดบริการประชาชน 2. ให้หน่วยรับงบประมาณจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ โดยพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วน ความคุ้มค่าตามศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงาน และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
3. สัดส่วนงบลงทุนกำหนดให้ต้องมีงบประมาณเพื่อการลงทุนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณ รายจ่ายประจำปี และกำหนดสัดส่วนงบกลางรายการสำรองจ่ายทั่วไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 4. กำหนดจำนวนปีและสัดส่วนวงเงินงบประมาณการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปี สำหรับงบประมาณโครงการใหม่ควรกำหนดจำนวนปีให้ผูกพันไม่เกิน 5 ปี และในปีแรกพิจารณาตั้งงบประมาณตามความเหมาะสม
โดยงบประมาณปี 68 วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1. งบบุคลากร 21,411.134 ล้านบาท 2. งบดำเนินงาน 18,481.444 ล้านบาท 3. งบกลาง 16,796,525.490 ล้านบาท แบ่งเป็น 13 รายการ ดังนี้ 1.เงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 500 ล้านบาท 2. เงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับน้ำท่วม 150 ล้านบาท 3. เงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร 700 ล้านบาท 4. เงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้าง 3,543 ล้านบาท 5. เงินบำเหน็จลูกจ้าง 1,603,600,000 บาท 6. ค่าติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ 100 ล้านบาท 7. เงินสำรองสำหรับค่างานส่วนที่เพิ่มตามสัญญาแบบปรับราคาได้ 30 ล้านบาท 8. เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากร 550 ล้านบาท 9. ค่าใช้จ่ายและหรือนโยบายที่ได้รับมอบจากรัฐบาล 3,850 ล้านบาท 10. เงินรางวัลและเงินช่วยเหลือสำหรับผลการปฏิบัติราชการประจำปี 500 ล้านบาท 11. เงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่ค้างจ่ายตามกฎหมาย 1,864,318,500 บาท 12. เงินช่วยค่าครองชีพผู้ได้รับบำนาญของ กทม. 200 ล้านบาท และ 13. เงินสำรองสำหรับจ่ายเป็นเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร 3,205,606,990 บาท
4.รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณ 15,663.978 ล้านบาท แบ่งเป็น รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณ เดิม 15,060.927 ล้านบาท รายการ/โครงการผูกพันงบประมาณใหม่ 603.051 ล้านบาท 5. งบลงทุน 10,083.134 ล้านบาท 6. รายจ่ายอื่น 4,061.063 ล้านบาท และ 7. งบเงินอุดหนุน 3,504.145 ล้านบาท