ทศธรรมราชา 72 พระชนมพรรษา มหาวชิราลงกรณ
เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเรียนรู้หลักการทรงงานของสองพระองค์ ทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อที่ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมือง
10 พระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถ
ในด้านพระอัจฉริยภาพทางด้านการทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลีย ระหว่างปี พ.ศ. 2513 ถึงปี พ.ศ. 2519 ขณะทรงดำรงพระยศพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์สกูล นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากราชวิทยาลัยนายร้อยทหารบกดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา จากนั้นทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ในนครเพิร์ธ ซึ่งนับเป็นกองปฏิบัติการทางการทหารชั้นนำของออสเตรเลีย
พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านการบินอย่างเชี่ยวชาญ ทรงศึกษาหลักสูตรการบินของกองทัพบกและกองทัพอากาศ ทรงศึกษาภาษาและเทคนิคการบินจากฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ทรงศึกษาหลักสูตรการบินเพิ่มเติมต่อมาอย่างสม่ำเสมอ ตลอดเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรความก้าวหน้ากิจการบินของประเทศต่างๆ
ในด้านพระราชกรณียกิจ ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ประสานงานกับหน่วยงานรัฐงานที่เกี่ยวข้อง โครงการฯใดที่แล้วเสร็จและได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน หากสามารถขยายผลเพื่อประโยชน์ของราษฎรได้เพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการ หรือโครงการฯใดที่ได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน มีความเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ให้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมและแก้ไขให้ใช้งานได้ตามปกติ และให้เร่งรัดดำเนินการโครงการเพื่อประโยชน์ของราษฎร ขณะที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 189 โครงการ ซึ่งมีโครงการที่เกิดจากราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 118 โครงการ นอกจากนี้ทรงห่วงใยราษฎร ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทหารตำรวจตระเวนชายแดน และผู้ประสบภัยพิบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเชิญถุงพระราชทานไปมอบเพื่อบรรเทาทุกข์และสร้างขวัญกำลังใจ
ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าปัจจัยสำคัญในการดูแลราษฎรของชาติให้ผาสุกปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงพระราชทานเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยในช่วงที่ประเทศเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย เวชภัณฑ์ เพื่อให้สาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และพระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานฯ ดูแลรักษาประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ
ด้านการศึกษา ทรงมีคุณูปการแก่การศึกษาของชาติทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือให้มีความรู้ความสามารถอันจะนำไปสู่การพัฒนาชาติให้ก้าวหน้า พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนมัธยมในภูมิภาคทั่วประเทศ ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี ฐานะยากจนที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาตามความต้องการ โดยไม่ผูกพันใช้ทุน ครอบคลุมถึงการศึกษาสายอาชีพอื่นๆ เช่น การแพทย์พยาบาล และเกษตร เป็นต้น เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาทุกปี
ด้านการเกษตร เสด็จฯ ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นกำลังใจแก่เกษตรกรให้มีพลังในการปลูกข้าว ทรงทำนุบำรุงกิจการของงานเกษตรกรรมอย่างครบวงจร ทั้งผลผลิตและการยกระดับคุณภาพชีวิต ให้เป็นการเกษตรที่ยั่งยืนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์สร้างศูนย์เรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูงภาคเหนือ เรียกว่า "โครงการเกษตรวิชญา" ที่จังหวัดเชียงใหม่
ด้านการชลประทาน ทรงเจริญรอยตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เสด็จฯ ไปทรงเปิดอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่
ด้านศิลปวัฒนธรรม ทรงมีพระราชหฤทัยตั้งมั่นสืบสานธำรงไว้ซึ่งมรดกศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ อาทิ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโบราณสถาน แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และศิลปะการแสดง ทรงสนับสนุนกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนได้แสดงความสามารถด้านดนตรี ทรงรับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพไว้ในพระราชูปภัมภ์ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นต้น
ด้านการศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทรงผนวช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพระราชพิธีประจำเนื่องในพระพุทธศาสนาทุกโอกาส ทั้งการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตามฤดูกาล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงน้อมนำให้พุทธศาสนิกชนเจริญพระพุทธมนต์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ฯลฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในกิจกรรมของศาสนาอื่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู และศาสนาซิกข์
ด้านจิตอาสาพระราชทาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการจิตอาสาพระราชทาน เราทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อรวมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ โดยมุ่งมั่นทำความดีแก่ส่วนรวมในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ดังพระปฐมบรมราชโองการ เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป
ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน