วันที่ 27 ก.ค.67 นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลาก (แม่น้ำยม) ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย โดยมี นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 4 ก่อนจะเดินทางไปติดตามโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน รวมถึงติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณคลองยม-น่าน ประตูระบายน้ำคลองหกบาท และประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อำเภอสวรรคโลก ตลอดจนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองสุโขทัยตามลำดับ
สำหรับการเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย สำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ถอดบทเรียนจากสถานการณ์อุทกภัยในปี 2566 ที่ผ่านมา นำมาวิเคราะห์ วางแผนป้องกัน และเตรียมแผนเผชิญเหตุรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ โดยได้วางแผนจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำยม เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ ด้วยการหน่วงน้ำไว้ที่บริเวณด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) โดยจะผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่าน ผ่านทาง ปตร.คลองหกบาท ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าและแม่น้ำน่านตามลำดับ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการผันน้ำเข้าคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำยมสายหลัก เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบนโยบายและแนวทางในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด พร้อมสั่งการให้ โครงการชลประทานสุโขทัย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ทั้งยังกำชับให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ประจำจุดเสี่ยงต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หวังบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสุโขทัยให้มากที่สุด ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์