ก่อนปี พ.ศ. 2543 พื้นที่บริเวณหนองอึ่ง ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร ครอบคลุม 7 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน ขณะที่หน้าแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องบุกรุกป่าหาที่ทำกินใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สภาพป่าจึงเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่จนต้องอพยพเข้าเมืองเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนบ้านคำน้ำสร้าง ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร มีพระราชดำริให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ด้วยการขุดลอกหนองอึ่งเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงหน้าฝนไม่ให้ไหลบ่าไปท่วมพื้นที่ทำกินของราษฎร และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง พร้อมปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำ ปรับปรุงสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง โดยปลูกต้นไม้และหญ้าแฝก ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และฟื้นฟูสภาพป่ารอบหนองอึ่ง ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร ได้เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2544 พื้นที่โครงการ 43.9 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ 15 หมู่บ้านใน ต.ค้อเหนือ อ.เมือง จ.ยโสธร รวมจำนวนประชากร 2,036 ครัวเรือน 7,767 คน มี “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” เป็นพื้นที่สำคัญของโครงการ มีการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” โดยปลูกพันธุ์ไม้ยางนา พะยอม และได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างพันธุ์ไม้วงศ์ยางที่มักอยู่ร่วมกับเชื้อเห็ดป่า (ไมคอร์ไรซา) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาต่อยอดด้วยการเพาะชำกล้าไม้วงศ์ยางที่ติดเชื้อเห็ดป่าไปปลูกในพื้นที่ ทำให้ต้นไม้มีคุณสมบัติทนความแห้งแล้ง เติบโตได้ดีในพื้นที่เสื่อมโทรม และเกิดเห็ดป่าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นแหล่งอาหารสำหรับชุมชน ในการเก็บเห็ดมาบริโภคและจำหน่าย มีการนำดินที่ขุดลอกหนองอึ่งขึ้นมาปรับสภาพบริเวณรอบหนองอึ่งจำนวน 100 ไร่ แล้วจัดสรรให้ชาวบ้านได้ทำกินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีผู้ได้รับประโยชน์ 120 ราย นางบังอร บุตรราช ราษฎรหมู่ที่ 15 ต. ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร หนึ่งในผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ทำกินจากโครงการฯ บอกว่า ปลูกตะไคร้ ใบแมงลัก ปลูกไผ่เก็บหน่อไม้ ผลผลิตจะมีคนมารับซื้อที่หน้าแปลงปลูก มีรายได้ทุกวัน “ปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปรัง และนาปี เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ กข. 61 ได้ขายทุกปี ที่นาส่วนหนึ่งปลูกข้าวเหนียวไว้กินเองในครอบครัว” นางบังอร บุตรราช กล่าว
เมื่อป่าดงมันได้รับการฟื้นฟู ปริมาณสัตว์ป่าและของป่าในผืนป่าก็เพิ่มมากขึ้น เช่น ไก่ป่า หมาจิ้งจอก เห็ดโคน แม่เป้ง ไข่มดแดง ตั๊กแตน เห็ดระโงก เห็ดตะไค เห็ดเผาะ เป็นต้น ปัจจุบัน “ป่าชุมชนดงมัน 3,006 ไร่” ได้เป็นธนาคารอาหารของชาวบ้าน 15 หมู่บ้าน 2,000 กว่าครัวเรือน โดยทุกคนสามารถเข้าไปหาของป่าภายใต้การดูแลของส่วนการบริหารงานที่เป็นกรรมการจากแต่ละหมู่บ้านเข้ามาบริหารจัดการร่วมกัน
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วย นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนฯ ติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร พร้อมเยี่ยมชมแปลงปลูกไม้ยืนต้นของนายพิทักษ์ และนางรังสรรค์ อินทนนท์ เกษตรกรบ้านค้อใต้ ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร ที่ได้นำกล้าไม้ตระกูลยางนาใส่เชื้อไมคอร์ไรซ่า จากโครงการฯ มาปลูกในพื้นที่ของตนเอง สามารถสร้างรายได้จากการเก็บเห็ดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำ ประดู่ พะยูง มะค่าโมง มาปลูกเพื่อเป็นป่าเศรษฐกิจสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต เป็นวิถีชีวิตที่คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพสกนิกรชุมชนหนองอึ่ง ที่ทุกวันนี้มีกิน มีใช้ มีเก็บอย่างไม่ขัดสน ขณะที่ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้กับทุกผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน