เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 ที่ บก.สส.บช.น พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ ตร (สส) พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศ
โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ,พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.อิสเรศ ปาลาพงศ์, พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก สส.ฯ, พ.ต.อ.อรรชวศิษฎ์ ศรีบุญยมานนท์ ผกก.สส.3 บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.วิโรฒ จนุบุษย์ และ พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.สส.3ฯ ได้สั่งการให้ พ.ต.ต.วรุตม์ คำหล้า สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. พร้อมด้วย ร.ต.อ.พิชชากร กองสวัสดิ์ ,ร.ต.อ.พงศธร อารีย์ รอง สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น., ด.ต.ประเทศ ช่อลำเจียก,จ.ส.ต.ภานุพงศ์ เวฬุวนารักษ์, ส.ต.อ.อวิรุทธ์ เนียมบุญเจือ, ส.ต.อ.นิติสิทธิ์ โชติคุต, ส.ต.อ.พลภัทร ปรีชา ผบ.หมู่ กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ชุดปฏิบัติการที่ 3 กก.สส.3 บก.สส.บช.น. จับกุมนายภัทรพล เลียบสวัสดิ์ อายุ 21 ที่อยู่ บ้านเลขที่ 52 หมู่ 17 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กทม.ตามหมายจับ ศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.1025/2567 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน “พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล” โดยจับกุมได้ที่บริเวณภายในวัด ซอยคุ้มเกล้า 25 ถนนคุ้มเกล้า แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม.
พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวถึงพฤติการณ์ ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้แจ้งซึ่งเป็นมารดาของเด็กอายุ 13 ปี ได้ทราบเรื่องว่า บุตรของผู้แจ้ง ซึ่งอาศัยอยู่กับน้าของผู้แจ้งที่ หอพักไม่มีชื่อ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. ต่อมาได้มี นายภัทรพล อายุ 20 ปี ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์มารับไป โดยพาออกไปจากหอพักดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้แจ้ง ทำให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหาย
จากการสอบสวน ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นได้นำส่ง สน.ฉลองกรุง ดำเนินคดีต่อไป
พล.ต.ต.ธีรเดช ฝากเตือนว่า การมีความรักนั้นไม่ผิด แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย อายุ 18 ปีขึ้นไป และควรทำให้ถูกต้อง ให้ผู้ปกครองเขารับรู้ ส่วนพ่อแม่ก็ต้องคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยกับลูก ไม่เหินห่าง คอยชี้แนะถึงการมีคู่รัก วัยที่เหมาะควร เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่ตามมาภายหลัง