การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain หรือ ซัพพลายเชน) ได้ถูกคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษหน้า โดยจะมีการกระจายโรงงานการผลิตและแหล่งผลิตไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย รวมไปถึงทำเลอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย โดยข้อมูลของเจแอลแอล (NYSE: JLL) ระบุว่าฐานการผลิตอย่างประเทศไทยจะกลายเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์นี้ เนื่องจากขีดความสามารถในการผลิตที่หลากหลายซึ่งสามารถเสริมฐานการผลิตใหญ่อย่างจีน อย่างไรก็ดี บริษัทต่างๆจะต้องมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาเลือกทำเลที่ตั้งและทางเลือกในการระดมทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบท่ามกลางความผันผวนของซัพพลายเชนในปัจจุบัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ เริ่มมองหาการย้ายฐานการผลิตนอกประเทศจีน สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตไปประเทศใกล้เคียงอื่น ๆ ก่อให้เกิดกระแสกลยุทธ์ “China+1” โดยที่บริษัทต่าง ๆ พากันเพิ่มฐานการผลิตเพิ่มเติมนอกประเทศจีน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของซัพพลายเชนโดยลดการพึ่งพาประเทศใดเพียงประเทศเดียว
“ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนที่สำคัญในการปฏิรูปซัพพลายเชนจากประเทศจีน โดยมีผู้มาลงทุนจำนวนมากในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้มนี้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจาก ปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมียอดขายที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมสูงสุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว” นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าว
นายไมเคิล แกลนซี่ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายภาครัฐและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมาสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (S-Curve) ตามที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้ โดยมาตรการเชิงรุกของไทยควบคู่กับบรรยากาศทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและแรงงานที่มีทักษะ จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาแนวโน้มการลงทุนที่แข็งแกร่งได้ตลอดปี 2567
“เนื่องจากภาคการผลิตของประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงได้รับการติดต่อจากกลุ่มนักลงทุนและผู้ผลิตชั้นนำระดับสากลเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยนับเป็นทำเลชั้นเยี่ยมสำหรับสร้างฐานการผลิตจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยม โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่พัฒนาแล้ว และแรงงานที่มีทักษะ โดยเจแอลแอลมุ่งมั่นให้บริการลูกค้าด้วยข้อมูลวิจัยตลาดที่ครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกในการตัดสินใจเลือกทำเลและที่ดินที่เหมาะสำหรับตั้งฐานการผลิต เป้าหมายของเราคือการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ให้แก่นักลงทุนเพื่อที่นักลงทุนจะสามารถรวมฐานการผลิตที่ประเทศไทยเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของพวกเขาได้อย่างราบรื่น และได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทรนด์การเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น” นายกฤช ปิ่มหทัยวุฒิ หัวหน้าแผนกตลาดทุนประจำประเทศไทย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าว
“การกระจายความเสี่ยงภายในซัพพลายเชนเป็นขั้นตอนปกติสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภูมิภาคนี้ เราเล็งเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียมีศักยภาพที่จะสามารถเป็นกำลังเสริมด้านการผลิตที่แข็งแกร่งซึ่งมีอยู่ที่จีนในปัจจุบัน โดยบริษัทต่างๆ มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของซัพพลายเชนนี้กันอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องมีแนวคิดที่ยืดหยุ่นในการเลือกทำเลที่ตั้งโรงงานและทางเลือกของการระดมเงินทุน” นายไมเคิล อิกแนตทิอาดิส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อุตสาหกรรมการผลิต ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าว
โดยแรงกระตุ้นต่อแนวโน้มนี้ไม่ได้จำกัดจากเพียงความจำเป็นต่อการสร้างความหลากหลายให้แก่ซัพพลายเชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาค รวมถึงการมีประชากรและแหล่งแรงงานขนาดใหญ่ ต้นทุนที่ดี และสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งจากมุมมองของการลงทุนเพื่อการผลิต ปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของตลาดโลกต่อไป
แหล่งข้อมูลหลายแห่งยังระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นตัวกระตุ้นหลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การกระจายฐานการผลิตนี้ โดยความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับค่าจ้างและต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้น ล้วนส่งผลให้ราคาที่ดินในจีนสูงขึ้น ซึ่งอาจสูงกว่าถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
เจแอลแอลประเมินว่าประเทศจีนยังคงครองส่วนแบ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภูมิภาคนี้ในสัดส่วนสูง แต่ช่องว่างนี้ก็กำลังแคบลง นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น แรงงานที่มีทักษะ โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม การอยู่ใกล้กับซัพพลายเออร์และลูกค้า และเสถียรภาพทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาวของโรงงานการผลิต โดยเจแอลแอลอยากให้บริษัทต่าง ๆ ทำการประเมินอย่างรอบคอบเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้ที่ไม่ได้แสดงผลออกมาโดยตรงในรูปแบบต้นทุน ซึ่งล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกฐานการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคตของบริษัท