“พิมพ์ภัทรา” หารือผู้แทนจากเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ และหลอดฟลูออเรสเซนต์ ตอกย้ำเป้าหมายการผลักดัน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ลดปริมาณของเสียและส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภารกิจการเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 24 – 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ อธิบดีสำนักสิ่งแวดล้อมเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ว่า เมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) เป็นหนึ่งในต้นแบบที่ดี ที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำมาเป็นแนวทางพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในประเทศไทย เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับเมืองคิตะคิวชู มีความร่วมมือในการพัฒนาเมืองเชิงนิเวศ และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้รับการรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับEco World Class นอกจากนี้ รัฐบาลยังมอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กนอ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้และพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมไปถึงเทคโนโลยี เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Circular โดย กนอ. อยู่ระหว่างการหารือความร่วมมือกับสถานกงสุลใหญ่ฟุกุโอกะ กระทรวงการต่างประเทศ เมืองคิตะคิวชู เพื่อดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยเบื้องต้นกำหนดกรอบความร่วมมือ ดังนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จในการบริหารจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ของญี่ปุ่น ประกอบด้วย (1) กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลโรงงาน ทั้งผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับกำจัดของเสีย(2) กฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมให้เอื้อต่อการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (3) บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรตามแนวคิด end-of-waste และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของนิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการตั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการหมุนเวียนทรัพยากร
“เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในประเทศไทย ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐในการสนับสนุนการประกอบกิจการที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามเป้าหมายของประเทศและของโลก การหารือและดูงานครั้งนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการนำปัจจัยความสำเร็จจากเมืองคิตะคิวชูมาเป็นต้นแบบในการบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้การทำ BCG Model เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขับเคลื่อนต่อไป เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ที่ Recycle-Tech Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ชินเรียว คอร์ปอเรชั่น ตอกย้ำเป้าหมายของประเทศในการผลักดัน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อลดปริมาณของเสียและส่งเสริมการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเยี่ยมชมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้ โลกจะต้องเผชิญกับปัญหาของเสียจากแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก การรีไซเคิลจึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ (24 ก.ค.67) คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ ของบริษัท เจ-รีไลท์ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการรีไซเคิลเพื่อลดของเสีย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม Circular จะเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยนักลงทุนจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
ด้านนางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. (สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของ กนอ. ต่อจากนี้คือ การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่โดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและยั่งยืน โดยความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่กำลังจะตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย ให้เห็นว่า
ประเทศไทยตั้งใจสนับสนุนและอำนวยความสะดวกการประกอบกิจการ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของประเทศ รวมถึงเป้าหมายของโลก โดยมีภาครัฐที่พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ มีกำหนดการเยือนประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 21 - 27 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ
#ข่าววันนี้ #ญุี่ปุ่น #การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #กนอ