ปลัดจังหวัดกาญจน์ ร่วมโครงการ สพฐ.สัญจร ครั้งที่ 6 เพื่อกำกับติดตาม และแก้ปัญหาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่หอประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายฑรัท เหลืองสอาด ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี ให้การต้อนรับและร่วมโครงการ สพฐ.สัญจร ครั้งที่ 6 เพื่อกำกับติดตาม และแก้ปัญหาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคตะวันตก ณ จังหวัดกาญจนบุรี
โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในครั้งนี้ พร้อมด้วย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโสสำนักงานอัยการสูงสุด นาย สมบูรณ์ แผนสมบูรณ์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสหกรณ์ ธนาคารที่เกี่ยวข้อง คณะครูอาจารย์ เข้าร่วมประชุมฯ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดจัดโครงการ สพฐ. สัญจรกำกับ ติดตาม และแก้ปัญหาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม2567 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดแพร่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการฯ เพื่อกำกับ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานของสถานีแก้หนี้ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงินในการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ พร้อมทั้งเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อไป
สพฐ. เร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ร่วมกับสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ เพื่อช่วยคลายทุกข์ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการส่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินและความสุขในการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรฯ การทำให้ครูมีความสุขจะช่วยให้สามารถทำหน้าที่ในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความสุขแก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน้าที่ของทุกคนคือการลดภาระครูและส่งเสริมความสุขด้วยการปรับปรุงสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อเป้าหมายคุณภาพชีวิตที่ดี ฉะนั้นการจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ครูและบุคลากรฯทุกคนต้องถูกคลายทุกข์แล้วสร้างสุขแบบยั่งยืน เพื่อทำคุณภาพห้องเรียนภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ให้สุขเริ่มที่ครูให้เป็นจริง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน ผ่านการเจรจาของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ผอ.เขต ที่เป็นผู้นำของข้าราชการครูและบุคลากร เป็นผู้มีบทบาทหลักที่จะทำให้บุคลากรในสังกัดที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ได้รับการคลายทุกข์ และทำให้ทุก ๆ คน ได้รับเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% จริง เพื่อการครองชีพที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ “ความสำคัญของการยกเลิกการผูกขาดที่ครูจะต้องกู้ยืมจากสหกรณ์ในจังหวัดเท่านั้น เพื่อช่วยให้ครูได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ” โดย ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และการไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาครูที่มีเงินดำรงชีพเหลือน้อยกว่า 30% และกรณีที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกับการช่วยเหลือสมาชิก โดย นางลาวัลย์ ช่วงวัย ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด เป็นต้น