เวียนมาบรรจบครบอีกวาระสมัย เนื่องในดิถีศุภมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีของไทยเรา ซึ่งตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ หรือวันพระราชสมภพของพระองค์ คือ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495

โดยในปีนี้ ก็ยังถือเป็นปีมหามงคลเป็นที่ยิ่ง ด้วยจะมีการเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์มีพระชนมายุ 72 พรรษา เป็นประการต่างๆ จากทุกภาคส่วนของไทยเรา เพื่อเฉลิมฉลอง พร้อมกับน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระองค์ ซึ่งมีพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ล้วนทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม

หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงพระคุณอย่างมหาศาลต่อประเทศชาติที่จะกล่าวถึงนี้ ก็คือ ด้านการต่างประเทศ หรือการทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งพระราชกรณียกิจด้านการสร้างสรรค์สานสัมพันธ์ และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น กับนานาประเทศ

พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศดังกล่าวนั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชกรณียกิจข้างต้น มาตั้งแต่ครั้งพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” รวมถึงก่อนหน้าที่พระองค์จะทรงดำรงพระราชอิสริยยศดังกล่าวแล้วด้วยซ้ำ ที่พระองค์ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในด้านนี้

โดยในด้านการเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ พระองค์ก็มีพระราชกรณียกิจเป็นประการต่างๆ ได้แก่ การที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศต่างๆ ทุกทวีปอย่างเป็นทางการ ทั้งในการของพระองค์เอง และทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นานาประเทศที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือน ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี จีน สิงคโปร์ เวียดนาม อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา อิหร่าน ชิลี เปรู ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร เป็นต้น พร้อมกับการที่พระองค์ทรงพบปะกับเหล่าองค์พระประมุข และผู้นำของประเทศนั้นๆ ตลอดจนการที่พระองค์ทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีสำคัญๆ ของประเทศที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือน เช่น ทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 และสถาปนาสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งราชวงศ์อังกฤษ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอังกฤษ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ ที่ 3 และสถาปนาสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งราชวงศ์อังกฤษ (Photo : AFP)

การที่ทรงมีพระราชกรณียกิจต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ทั้งในส่วนที่เป็นพระราชอาคันตุกะของพระองค์เอง และการที่พระองค์เสด็จออกแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้อนรับพระราชอาคันตุกะที่เสด็จพระราชดำเนิน หรือเดินทางเยือนประเทศไทย ขององค์พระประมุข และผู้นำของประเทศต่างๆ

อาทิเช่น พระองค์ทรงรับสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย และการที่ทรงต้อนรับแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเยือนไทยหลายคนด้วยกัน เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว พระราชกรณีกิจด้านทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศนั้น พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นไปยังทางการของประเทศต่างๆ อยู่เนืองๆ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น โดยมีนายยาซูฮิโร นากาโซเน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถวายการต้อนรับ (Photo : AFP)

โดยพระราชสาส์นของพระองค์ข้างต้น ก็ได้แก่

พระราชสาส์นถวายพระพรเนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพขององค์พระประมุขของประเทศต่างๆ

พระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังผู้นำประเทศต่างๆ ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

พระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังทางการของประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการอำนวยพรเนื่องในวันเอกราชและวันชาติของประเทศนั้นๆ เป็นต้น

พระราชสาส์นไปยังทางการประเทศต่างๆ เพื่อแสดงความเสียพระราชหฤทัยเกี่ยวกับความสูญเสียในบุคคลสำคัญ การเกิดเหตุร้ายเป็นประการต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ และการก่อวินาศกรรม จนนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของประเทศนั้นๆ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ครั้งพระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงให้การต้อนรับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเยือนไทย (Photo : AFP)

นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแล้ว หลายเหตุการณ์ พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือเป็นประการต่างๆ ให้แก่ทางการของประเทศที่กำลังประสบภัยอีกด้วย อาทิเช่น ในช่วงการแพร่ระบดของโรคโควิด – 19 พระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พร้อมกับสิ่งของและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อพระราชาทานความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ของประชาชน แก่ทางการของหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย และเนปาล ไม่เว้นแม้กระทั่งจีน

กล่าวกันว่า ในการที่พระองค์จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศต่างๆ นั้น พระองค์จะทรงศึกษาเรื่องราวของประเทศนั้นๆ ในด้านต่างๆ ก่อน อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของพระองค์ในการที่จะทรงเจริญพระราชไมตรี และในระหว่างที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือน ก็จะทรงทอดพระเนตรและทรงศึกษาถึงกิจการต่างๆ ที่พระองค์ทรงพระเนตรมานั้น เช่น กิจการทางทหาร การอุตสาหกรรม ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศไทยเราให้เจริญรุ่งเรือง และมั่งคง เป็นประการต่างๆ สืบต่อไป

ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน