วันที่ 25 ก.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ แถลงภายหลังการประชุม ว่า เนื่องจากวันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการฯ และวันในวันพรุ่งนี้จะมีการสรุปรายงานอย่างเป็นทางการ เพื่อบรรจุวาระการประชุมสภาฯอย่างเร็วที่สุด โดยตนมีสาระสำคัญที่อยากจะสื่อสาร คือ 1.กมธ.เห็นว่า ในการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายในลักษณะที่คล้ายกับหลายฉบับก่อนหน้านี้ ที่มีการกำหนดความผิดใดความผิดหนึ่งโดยเฉพาะ หรือนิรโทษกรรมกรรมคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปี มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายฐานความผิด หลากหลายเหตุการณ์ ดังนั้น วิธีการทางกฏหมายที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่สุด คือคณะกรรมาธิการฯ จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาว่า คดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

นายชัยธวัช กล่าวว่า กมธ.ได้ให้นิยามว่า คดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองนั้น คงหมายถึงการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยช่วงระยะเวลาที่กมธ.เห็นตรงกันว่าคดีที่ควรจะมีการพิจารณาให้นิรโทษกรรม คือคดีความที่เกิดจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ส่วนประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันให้นิรโทษกรรมส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ กมธ.พรรคก้าวไกล ทั้ง สส.และบุคคลภายนอกเห็นด้วยกับการพิจารณาให้นิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย เพราะในสังคมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้พอสมควร รวมถึงในคณะกรรมาธิการฯ เองด้วย

“กมธ.จึงรวบรวมความคิดทุกแบบเข้ามาอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอให้สภาฯพิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมม.112  2..เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 เหมือนกับความความผิดอื่นๆ 3.เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่เป็นไปในรูปแบบที่มีเงื่อนไข เนื่องจากกมธ.หลายท่านเห็นว่า เรายังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ในเรื่องนี้ และแม้ว่าหลายท่านจะเห็นด้วย และอยากจะเห็นการลดความขัดแย้ง อยากเห็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง เพื่อสร้างความปรองดอง แต่ยังมีความกังวลหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะกังวลว่าหากมีการนิรโทษกรรมคดี 112 ไปแล้ว จะเกิดปัญหาการแสดงออกเหมือนที่เคยเกิดขึ้น และนำไปสู่การดำเนินคดีอีกหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นควรมีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขขึ้นมา แตกต่างจากฐานความผิดอื่น”นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ 1.จะเสนอให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้มีการนิรโทษกรรม แม้ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ศาลพิพากษาแล้ว ต้องการนิรโทษกรรมในคดี 112 ด้วย ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการพิจารณา 2.มีข้อเสนอว่า นอกจากมีเงื่อนไขแล้ว ก่อนที่จะมีการพิจารณาก็ควรจะมีมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาในคดี 112 ซึ่งหลายคนก็อาจต่อสู้ว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด ส่วนรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม อาจจะให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าว่ากระทำความผิดมาแถลงข้อเท็จจริงว่า อะไรเป็นต้นเหตุ สาเหตุ แรงจูงใจให้กระทำการเช่นนั้น ตามที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งให้เกิดการสานเสวนา เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการพูดคุยระหว่างผู้กระทำผิด และผู้ที่ถูกกล่าวหา กับคู่ขัดแย้ง หรือคู่กรณี รวมถึงเจ้าหน้าที่ และฝ่ายความมั่นคง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง หรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า กระบวนการนี้ จะนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขและมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้ในภายหลัง เมื่อได้รับการพิจารณานิรโทษกรรม ดังนั้นกมธ.เห็นว่า หากมีเงื่อนไขแบบนี้ และกระบวนการแบบนี้แล้ว การกำหนดเงื่อนไข และมาตรการในการป้องกันกระทำผิดซ้ำในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ เนื่องจากหลายพฤติการณ์ อาจจะถูกมองว่า มีความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคดีอาจมีความชัดเจนว่า มีการตั้งข้อกล่าวหารุนแรงเกินจริง หรือถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ ดังนั้น เงื่อนไขของการเข้าสู่กระบวนการก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะมีข้อดีที่ทำให้เกิดการยอมรับ ลดช่องว่าง ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันของกลุ่มที่เห็นแตกต่างกัน และเป็นโอกาสสำคัญที่ภาครัฐ ฝ่ายความมั่นคง รัฐบาล แม้กระทั่ง สส. ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิด ซึ่งจะนำไปสู่การหากุศโลบาย หรือนโยบายทางการเมือง ที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเหมือนในอดีตอีก และอาจจะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สร้างความยอมรับของคนที่มีความกังวลว่า ไม่ควรจะนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ส่วนเงื่อนไขก่อนการเข้าสู่กระบวนการ คณะกรรมการฯ ก็เห็นว่าอาจจะต้องมีการยอมรับข้อตกลง หรือทำข้อตกลง ที่จะห้ามหรืองดการกระทำบางอย่างในระยะเวลาที่กำหนดแล้วแต่กรณี ประเด็นสำคัญ คือในระหว่างที่คดีนั้นๆ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ ก็ยังมีข้อเสนอว่า ควรจะมีมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น เช่น อาจจะมีการชะลอการฟ้อง การให้สิทธิในการประกันตัวออกมาก่อน หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากคดีที่จะได้ต้องเข้าสู่กระบวนการแบบมีเงื่อนไขเช่นนี้ อาจจะใช้ระยะเวลามากกว่าคดีอื่นๆ ส่วนมาตรการการกระทำผิดซ้ำ ก็อาจมีมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น หากมีการละเมิดเงื่อนไข ก็อาจจะเสียสิทธิ์ในการนิรโทษกรรม หรืออาจจะต้องมีมาตรการให้มารายงานตัวเป็นระยะๆ หรือกระบวนการสร้างความปรองดองร่วมกันหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว นอกจากนั้นกมธ.บางท่านเสนอว่า อาจจะยังไม่นิรโทษกรรมในทันทีในส่วนคดี 112 แต่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาการได้รับการนิรโทษกรรมก่อน มีการสานเสวนาแถลงก่อน จนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อยมาพิจารณาว่า จะมีการนิรโทษกรรมคดีนั้นหรือไม่ แต่ระหว่างนั้น ก็จะใช้มาตรการอื่นๆ จนกว่าคณะกรรมการนิรโทษกรรม จะเห็นข้อยุติว่า จะนิรโทษกรรมคดีนั้นหรือไม่

“กมธ.เห็นตรงกันว่า คดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และ ยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ เช่น เราเห็นว่าเมื่อรายงานได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีควรรีบพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเองโดยเร็ว และระหว่างที่ยังรอการตรากฎหมาย ก็ควรจะมีการอำนวยความยุติธรรมไปก่อน โดยใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหาร ก็ต้องมีบทบาทสำคัญ ที่จะต้องมีนโยบายออกมาชัดเจน และประสานกับองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามกมธ.ทำรายงานเสร็จ และผ่านเข้าสู่สภาก็จะส่งให้ฝ่ายบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมด้วย และจะขอให้ส่งรายงานกลับมาที่สภาฯภายใน 60 วัน ว่ามีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหรือไม่ หรือได้ดำเนินการตามข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่งหรือไม่”นายชัยธวัช กล่าว

เมื่อถามว่าข้อกังวลที่พรรคอื่นๆ ยังไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรม คดี 112 พรรคก้าวไกลจะจัดทัพในการอภิปรายอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังไม่ได้จัดทัพขนาดนั้น พรรคเรามีความเห็นแบบนึง แต่เราก็รับฟัง และพยายามจะเข้าใจความเห็นของฝ่ายที่เห็นไม่เห็นด้วย และมีข้อกังวลในประเด็นนี้ ในการทำงานเมื่อคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นหลากหลาย เราก็รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และพยายามหาข้อเสนอ หรือมาตรการที่ตอบโจทย์ ที่พอจะยอมรับกันให้ได้มากที่สุด ในรายงานที่จะเข้าสู่สภา ก็จะมีความเห็นของทุกฝ่ายทุกด้าน ทั้งข้อดีข้อเสียจากการวิเคราะห์ของกรรมาธิการฯ เพื่อให้สภาได้พิจารณาอย่างรอบด้าน หวังว่าบรรยากาศเมื่อเข้าสู่สภาแล้ว จะไม่ใช่บรรยากาศของความขัดแย้ง แต่จะเป็นบรรยากาศที่รับฟัง พยายามพิจารณาทุกทางเลือกอย่างดีที่สุด และมีวุฒิภาวะ เพราะหากในสภาบรรยากาศยังไม่ปรองดอง เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน คิดว่าการออกกฏหมายโดยมีเป้าหมายลดความขัดแย้ง ก็คงจะไม่บรรลุ