ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตมีทางเลือกหลายทาง แต่นิพพานมีทางไปแค่ทางเดียว ซึ่งคนส่วนมากชอบที่จะเลือกหนทางอื่น ๆ ไม่ใช่เพราะความสะดวก แต่เป็นเพราะไม่แน่ใจว่านิพพานนั้น “ดีจริงหรือ?”
“แล้วทำไมท่านบวชไม่สึก แล้วทำไมมาเรียนทางโลก แล้วนี่ไม่คิดจะไปให้ถึงพระนิพพานแล้วหรือ?”
ผมถามหลวงพี่เกษมในช่วงที่ท่านกำลังเล่าถึง “ปฏิปทา” หรือ “แนวปฏิบัติ” ต่าง ๆ ของหลวงปู่ ในตอนที่หลวงพี่เกษมไปอยู่กับหลวงปู่ที่วัดบนเขาในภาคอีสานหลายปีนั้น ซึ่งดูเหมือนว่าท่านจะไม่ได้คิดสึก และเหมือนว่าตั้งใจจะขอตามไปพบ “พระนิพพาน” เหมือนกับที่หลวงปู่มุ่งมั่นนั้นด้วย
“หลวงปู่ท่านสิ้นเสียก่อน หลวงลุงที่พาอาตมามาอยู่ก็กลับไปอยู่ที่วัดเดิม อาตมาก็แยกไปธุดงค์ตามลำพัง ก็อยู่อีสานนั่นแหละ พอหลายปีเข้าก็เบื่ออีก ดูเหมือนว่าพระนิพพานนั้นห่างไกลออกไปทุกที
วันหนึ่งระหว่างทำวิปัสสนา ก็เสียสมาธิเกิดว้าวุ่นใจว่า ทำไมยังไม่ใกล้พระนิพพานเสียที มานึกเอาเองว่าเราคงสติปัญญาไม่ถึง ความรู้น้อยไป ที่ผ่านมาได้แต่เรียนปฏิบัติ เชื่อถือและทำตามที่พระอาจารย์ต่าง ๆ สั่งสอน หรือลอกเลียนท่าน แต่ก็ไม่สำเร็จ
วันหนึ่งก็เข้าไปในเมือง ตั้งใจจะไปไหว้พระใหญ่ในวัดที่ตลาด ระหว่างทางมีคนเอาหนังสือเก่ามาวางขายตั้งเป็นแผงลอยอยู่ตรงทางเข้าหน้าวัด เห็นมีตำราเกี่ยวกับการทำวิปัสสนาหลายเล่ม รวมถึงอภินิหารต่าง ๆ ของการบรรลุมรรคผลนิพพาน ตั้งใจจะซื้อสัก 2-3 เล่ม เผื่อไว้เพิ่มเติมความรู้ จะได้เอาไปปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนั้นต่อไป
มีหนังสือเล่มหนึ่งช่างประหลาดแท้โดยบังเอิญ ชื่อโลกในพระพุทธศาสนา ไม่ได้สนใจหรอกว่าใครเขียน แค่คิดจะพลิกอ่านบางหน้า แต่ก็อ่านเพลินติดต่อไปหลายหน้า ก่อนที่จะซื้อเล่มนั้นมาด้วย และจึงได้เห็นชื่อคนเขียนคือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งอยากอ่านให้จบโดยเร็ว
ข้อความที่สะดุดใจในหน้าแรกที่พลิกอ่านตรงแผงลอยหน้าวัดก็คือ โลกในพุทธศาสนานี้มี 2 โลก คือโลกที่อยู่ไปเพื่อหาทางหลุดพ้น ที่เรียกว่าโลกุตระ กับโลกสำหรับคนที่ยังต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไปที่เรียกว่าโลกียะ การไปถึงโลกุตระนั้นไปยาก จำเป็นจะต้องเข้ามาบวชเสียก่อน เพื่อให้ศีลและพระวินัยต่าง ๆ เข้าควบคุมตัวเอง จากนั้นเมื่อบำเพ็ญภาวนาต่าง ๆ ต่อไป จนตัดกิเลสได้หมด ไม่ยึดติดในสภาวะทั้งปวงแล้ว นั่นหละจึงจะบรรลุมรรคผลนิพพาน
ดังนั้นพระจึงต้องมีศีลถึง 227 ข้อ มากกว่าคนทั่วไปที่มีแค่ 5 ข้อก็พอ หรือถ้าไม่อยากลำบากมากนักก็ถือศีล 8 แบบอุบาสกอุบาสิกาที่เข้าวัดถือศีลในวันทำบุญต่าง ๆ หรือใครที่จะบวชระยะสั้นก็เป็นแค่เณร ถือศีลแค่ 10 ข้อ ส่วนฆราวาสแค่ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยใคร ไม่ละเมิดเมียคืนอื่น ไม่พูดโกหก และไม่ดื่มของมึนเมา ก็พอประคองชีวิตไปได้ ศีลเหล่านี้จะทำให้เรามีสติ สติก่อให้เกิดสมาธิ ไปสู่การมีปัญญา นี่แหละคือมรรคผลของฆราวาส ศีล สมาธิ และปัญญา”
หลวงพี่เกษมพูดถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อีกมากมาย บอกว่าพออ่านหนังสือโลกในพระพุทธศาสนาจบแล้ว ก็ไปหาหนังสือเล่มอื่น ๆ ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาอ่านอีก ยิ่งเรื่องไผ่แดง ยิ่งทำให้เข้าใจเรื่อง “หน้าที่ของสงฆ์” ซึ่งผมก็เคยอ่านมา รวมถึงได้เคยคุยเรื่องนี้กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ “ตัวเป็น ๆ” ในตอนที่ผมได้ทำงานเป็นเลขานุการของท่านอยู่เกือบสิบปีนั้นด้วย ผมจึงเล่าถึงเรื่องที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ “สมภารกร่าง” ในเรื่องไผ่แดง ซึ่งพอผมเล่าจบ หลวงพี่เกษมก็พูดขึ้นมาทันทีว่า เรื่องของสมภารกร่างนี้เองที่ทำให้หลวงพี่เกษม “ไม่คิดจะสึก”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ตอนที่ท่านเขียนเรื่องไผ่แดงเป็นช่วงที่รัฐบาลไทย(รัฐบาลทหารในยุคเผด็จการช่วงหลังกึ่งพุทธกาล)กำลังรณรงค์ต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ และพยายามทำให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์นั้นน่ากลัวและเป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นท่านชอบขัดคอรัฐบาลทหารมาโดยตลอด จึงคิดจะเขียนเรื่องไม่ให้คนไทยกลัวคอมมิวนิสต์ จึงจินตนาการว่าที่ชานเมืองกรุงเทพฯ มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ “ไผ่แดง” (สีแดงก็แทนความเป็นคอมมิวนิสต์) พวกคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งมีผู้นำชื่อ “นายแกว่น แกว่นกำจร” (นามสกุลจะคล้าย ๆ กับผู้นำทหารคนหนึ่งที่นามสกุล “กิตติขจร”) คนกลุ่มนี้มีแนวคิดที่นิยมคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันที่วัดไผ่แดงก็มีเจ้าวัดชื่อ “สมภารกร่าง” ที่พอทราบข่าวเรื่องนายแกว่นกับพวกกำลังชื่นชมลัทธิคอมมิวนิสต์ก็เป็นกังวลมาก จึงไป “ปรับทุกข์” กับ “หลวงพ่อ” หรือพระประธานในโบสถ์ หลวงพ่อก็พูดโต้ตอบกับสมภารกร่างโดยตลอด โดยใช้หลักธรรมตามศาสนาพุทธไปสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะสอนให้ชาวบ้านมีสติและปัญญา โดยมีสมภารกร่างนั่นแหละเป็นผู้นำ ที่จะใช้ “สติและปัญญา” นั้นต่อสู้กับนายแกว่นและพรรคพวก
หลายคนที่อ่านเรื่องไผ่แดงคงนึกว่าเป็นเรื่องอ่านเล่น เพราะแค่พระคนพูดกับพระประธานได้ก็ดูตลกแล้ว และยิ่งในเรื่องก็มีแต่เรื่องตลกต่าง ๆ ของพวกนายแกว่น ก็เลยนึกไปว่าท่านอาจารย์เขียนเอาสนุก อย่างหลวงพี่เกษมก็เป็นคนหนึ่งที่อ่านผ่านตาไปในครั้งแรก ๆ แล้วก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น แต่พอมาอ่านอีกทีจึงรู้ว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านได้แสดง “ปรัชญาของศาสนาพุทธกับสังคมไทย” ได้อย่างลึกซึ้ง
คือเมื่ออ่านไปจนถึงบทสุดท้าย ที่น้ำกำลังท่วมหมูบ้านไผ่แดง ชาวบ้านรวมถึงคอมมิวนิสต์อย่างนายแกว่นก็มาปรึกษาสมภารกร่างด้วยความกลัวตาย (ในตรงนี้ก็เสียดสีคอมมิวนิสต์ว่า แม้จะเป็นลัทธิใหญ่โตน่ากลัวเพียงใด แต่ท้ายที่สุดก็กลัวตายเหมือนกัน) สมภารกร่างก็แนะนำให้อพยพทั้งคนและวัวควาย(รวมถึงคอมมิวนิสต์)ให้ไปอยู่บนที่เนิน แต่สมภารกร่างนั้นไม่ยอมทิ้งวัดไปไหน พอถึงเช้า เพล และเย็นค่ำ ก็ตีระฆังและกลองเหมือนเป็นปกติ และนี่คือ “สงฆ์แท้” ที่ทำหน้าที่ไปเป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็พร้อมด้วยเป็นขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้าน ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องภัยธรรมชาติต่าง ๆ แต่ไม่ละทิ้งที่จะเป็นขวัญและกำลังใจในเรื่อง “ภัยทางจิตใจ” ทั้งหลายนั้นด้วย
หลวงพี่เกษมจึงออกจากป่ามาจำพรรษาที่วัดใกล้บ้านเกิดนี้ เพราะคิดว่าเป็นพระควรมีหน้าที่ช่วยสังคมบ้าง พอดีทราบจากพระรูปอื่น ๆ ว่าพระก็สามารถเรียนมหาวิทยาลัยในทางโลกได้ จึงได้มาเรียนกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องไผ่แดง จึงอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเมืองและลัทธิการเมืองต่าง ๆ แล้วก็โชคดีที่ได้มาเรียนกับคนใกล้ชิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ทำให้ติดตามเรียนมาโดยตลอด จนกระทั่งได้มาคุยกันอย่างถึงตัวในครั้งนี้ เหมือนได้เป็น “ศิษย์ก้นกุฏิ” ร่วมกันไปด้วย
สำหรับคำถามที่ผมถามท่านว่า “ไม่ไปให้ถึงพระนิพพานแล้วหรือ?” ท่านก็ตอบซื่อ ๆ อย่างง่าย ๆ ว่า “พระนิพพานคืออะไรก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ อาตมาเรียนปฏิบัติและถามมาหลายอาจารย์ ท่านก็เอาแต่อึ้ง ๆ อ้ำ ๆ ตอบไม่ชัดเจน แต่พออาตมาได้อ่านเรื่องไผ่แดง ฟังพระประธานสอนสมภารกร่าง ซึ่งก็คือจิตสำนึกของความเป็นพระที่มีอยู่ในตัวสมภารกร่างเองนั่นแหละ สมภารกร่างไม่ได้เรียนพระอภิธรรมจนเป็นมหาบาเรียนอะไร รู้แค่ศีลและพระวินัยแค่ย่อ ๆ แต่ก็ปฏิบัติตนเป็นพระได้อย่างสมบูรณ์
ว่าไปแล้วแค่เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ก็ถือว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จะเรียกว่าเป็นนิพพานก้นกุฏิก็ได้ เหมือนว่าบางทีเรามองไปที่ยอดเจดีย์ที่เป็นปรมัติสูงสุด แต่ไปไม่ถึง แต่ตัวเราก็อยู่ในวัด อยู่ในกุฏิ แม้ว่าจะอยู่แค่ก้นกุฏิ ไปไม่ถึงที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายสอนสั่ง แต่อาตมาก็พอใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของสงฆ์อย่างดีที่สุดแล้ว
คือโอบเอื้อชาวบ้านและกอบเกื้อพระพุทธศาสนา”