สำหรับอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญของไทย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 24.6 ของ GDP อุตสาหกรรมสร้างการจ้างงาน 1.14 ล้านคน และมูลค่าเศรษฐกิจ 1.138 ล้านล้านบาท แต่ผู้ประกอบการถึง 96% เป็น SMEs ที่ยังจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในอีกหลายด้าน 

เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนทุกมิติ

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า  การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เติบโต อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งการผลิต นวัตกรรม มาตรฐาน กฏ ระเบียบและภาษี ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินหน้ายุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) ด้วยการชูนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ หวังยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปีและสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่งเพื่อยกระดับประเทศไทย เดินหน้าไปสู่ประเทศรายได้สูงเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารและโรงงานผลิตอาหาร มีบทบาทและได้รับโอกาสสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารไทย วัตถุดิบสินค้าเกษตร และสินค้าอาหารประเภทอื่นอีกมากมาย โดยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศและธุรกิจของตัวเองให้เติบโตร่วมกันไปได้อีกด้วย

โดยปีแรกมีการจัดทำโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ตั้งเป้าปีแรกสร้างเชฟ 6,500 คน และทั้งโครงการซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารจะสร้างอาชีพให้คนไทยที่สนใจเป็นเชฟอาหารไทยได้มากกว่า 100,000 คน ในระยะ 5 ปี รองรับความต้องการของร้านอาหารไทยทั้งใน และต่างประเทศ  ซึ่งร้านอาหารไทยในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันประมาณ 20,000 ร้าน คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ร้าน ภายใน 4 ปี พร้อมกันนี้จะมีชฟจากโครงการดังกล่าวรองรับการขยายตัวของร้านอาหารไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นผลิตผลจาก 75,086 หมู่บ้านในประเทศไทย ที่จะมีเชฟอาหารไทยมืออาชีพ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่น ชุมชนผ่านเรื่องราวในอาหารไทยไปสู่ระดับสากล

นำเสนอความเป็นเลิศด้านอาหารไทย

ด้าน บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ร่วมกับ International Association of Gourmet Master Chefs and Hospitality Executives (GMC) เตรียมจัดงานการแข่งขัน “Gourmet Master Chefs - Global Challenge 2024” (GMC 2024) รอบชิงชนะเลิศ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ณ โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย

ในเรื่องนี้นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย ที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย จึงทำให้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็นสถานที่จัดงาน GMC 2024 ซึ่งงานนี้ไม่เพียงแต่ตอกย้ำชื่อเสียงของ เลอโนท ประเทศไทย ในฐานะโรงเรียนสอนประกอบอาหารระดับนานาชาติที่ได้รับการยกย่องเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับให้ เลอโนท กลายเป็นเวทีระดับโลกสำหรับการแสดงความสามารถในด้านการทำอาหารอีกด้วย

สำหรับโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2566 ถือเป็นสถาบันสอนประกอบอาหารแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศฝรั่งเศส โดยมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนทักษะการทำอาหารชั้นสูงแก่นักเรียนทั้งชาวไทยและต่างชาติผ่านหลักสูตรที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งหลักสูตรระยะสั้นที่เข้มข้น หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะยาว ไปจนถึงคลาสพิเศษสำหรับการเรียนรู้เทคนิคขั้นสูง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศด้านการทำอาหาร

ดังนั้นจึงมั่นใจว่า GMC 2024 จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญสำหรับประเทศไทยในการนำเสนอความเป็นเลิศด้านอาหารไทยออกสู่สายตาผู้คนทั่วโลก ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนและเชฟได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวัฒนธรรมด้านอาหารร่วมกัน

เตรียมตัวรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่องค์กรธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ได้สนับสนุนการจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2024 ผลักดันภาคธุรกิจท่องเที่ยวโตต่อเนื่อง  ซึ่งนายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีถึงมิถุนายน 2567 ว่า ในช่วงปลายปีที่เข้าช่วงไฮซีซั่นจะบูมเต็มที่ กลุ่มนักท่องเที่ยวจะเป็นLuxury Style จึงทำให้โรงแรมต่างๆ เตรียมพร้อมที่จะรองรับในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร เพื่อนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวเอง หรือ  FIT ที่มากถึง 87% โดยอาศัยการหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำการตลาดผ่านออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้

ส่วน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงการพัฒนาและการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นถือเป็นข่าวดีของการท่องเที่ยวไทยและธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวเองที่มีการเติบโต ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ประกอบการหันมาสนใจพัฒนาศักยภาพใช้เทคโนโลยีในการทำให้ร้านของตัวเองอยู่ในฐานข้อมูลบนโลกออนไลน์มากขึ้น 

ซึ่งการจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2024 นี้   นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเฟืองจักรสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศ การจัดงาน Food & Hospitality Thailand 2024  เป็นอีกส่วนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวได้เตรียมตัวรับกับนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นปลายปีต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เนื่องจากในงานฯ มีการรวมสินค้า บริการ และโซลูชั่น ทั้งผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบอาหารพรีเมี่ยม นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการบริการ ตลอดจนโซลูชั่นที่ช่วยพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี