จากเหตุการณ์ที่ทาง “สหภาพแรงงาน 3 การไฟฟ้า” ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมแถลงการณ์มีประเด็น ดังนี้ 1. คัดค้าน 3 แนวทางการขึ้นค่าไฟฟ้า ด้วยเห็นว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชนในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ,2. ขอให้คณะรัฐมนตรีตรึงราคาค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ,3. หาแนวทางแก้ไขภาระหนี้ค่า FT ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ 4. ขอให้รัฐทบทวนโครงสร้างพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เช่น การกำหนดสัดส่วนนโยบายการผลิตที่เหมาะสม การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) การจัดสรรก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้า ตลอดจนกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนที่เหมาะสมโดยได้มีการนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อให้มีการทบทวนอุปสรรค ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานต้องพิจารณาสร้างความสมดุลทั้งด้านความมั่นคงไปพร้อมกับราคาที่เหมาะสม เพราะนอกจากไฟฟ้าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนแล้ว ไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนของประเทศ ซึ่งในกระบวนการบริหารจัดการ จึงมีเป้าหมายในการรักษาสมดุลทั้งการดูแลค่าครองชีพ การดูแลคุณภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในช่วงที่ราคาพลังงานทั่วโลกผันผวนในระดับสูง

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าค่าไฟของไทยแพงที่สุดในอาเซียนนั้นไม่เป็นความจริง ค่าไฟของไทยอยู่ในระดับปานกลาง ที่มีข่าวว่าเวียดนามค่าไฟถูกกว่าไทยมาก เนื่องจากเวียดนามใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้นทุนถูกกว่า แต่เวียดนามก็ไม่มีความเสถียรด้านไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าดับบ่อย อินโดนีเซียก็ใช้ถ่านหินก็ทำให้ต้นทุนถูกกว่า

ขณะที่ “สหภาพแรงงาน 3 การไฟฟ้า” แสดงความเห็นการปรับค่าไฟฟ้าหรือค่า Ft ครั้งนี้ว่า  ถือเป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันประชาชนต้องทุกข์ยากลำบากจากค่าครองชีพที่พุ่งทะยานสูงขึ้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่ารถเดินทาง และค่าของกินของใช้ที่แพงขึ้นอย่างมาก แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการแก้ไขค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยิ่งมีการปรับค่า Ft จะยิ่งเป็นการสร้างความทุกข์ยากอดอยาก เป็นการซ้ำเติมประชาชน รวมถึงลูกจ้างทั้งของรัฐและเอกชนเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่มีการสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น อยู่ที่ระดับ 35-50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ขณะที่อัตราการสำรองไฟฟ้าตามเกณฑ์เดิมอยู่ที่ 15% การสำรองไฟฟ้ายิ่งสูงมากจะกลายเป็นต้นทุนแฝงที่เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือประชาชน ดังนั้น การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ จึงถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่ประชาชนทุกข์ทนกับภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับสูงขึ้น ตลอดนับสิบปีที่ผ่านมา

ล่าสุดการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้เห็นชอบมาตรการดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมาตรการมีทั้งในส่วนของการดูแลค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน โดย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอมาตรการดูแลราคาพลังงาน โดยในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2567 (ก.ย. - ธ.ค.) ให้คงอัตราค่าไฟเท่าเดิมที่ 4.18 บาทต่อหน่วย รวมทั้งมีมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน

เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดีเซล ครม.รับทราบการกำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาตามที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับภาระได้ โดยจะตรึงเพดานที่ราคานี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 หลังจากนั้นก็จะดูสถานการณ์ และมาตรการที่จะดูแลราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยจะหารือกับกระทรวงการคลังที่อาจจะมีการใช้แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นมาตรการเสริม หรืออาจจะมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันเพิ่มเติม

พีระพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนการใช้หนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  นั้น ส่วนของค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ก็เป็นการทยอยใช้หนี้ส่วนนี้คืนให้กับ กฟผ.อยู่แล้ว แต่เป็นการทยอยใช้คืนไม่ใช่การคืนหนี้ทั้งก้อนเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งจะกระทบกับค่าไฟแล้วมาเป็นภาระกับประชาชน

สำหรับเรื่องของการแก้กฎหมายในการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน ตนเองเร่งที่จะทำกฎหมายในส่วนนี้อยู่ ซึ่งยอมรับว่ายังไม่ทันในช่วงสิ้นเดือนต.ค.นี้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเสนอเข้าสภาฯ ตามขั้นตอนทางกฎหมายโดยเร็ว ทั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะเราอยู่กันแบบนี้มา 50 ปีแล้ว ไม่มีกฎหมายที่จะกำหนดราคาน้ำมันของรัฐบาลเลยทั้งที่เรื่องนี้กระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างมาก ซึ่งกฎหมายก็ต้องมาดูไปถึงอำนาจของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยที่เดิมเคยมีอำนาจทั้งในการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน และกำหนดสัดส่วนของการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูไปควบคู่กันไป

 “เราอยู่กันมาแบบนี้นานกว่า 50 ปีไม่มีกฎหมายในการดูแลราคาน้ำมันทั้งที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก พอราคาน้ำมันแพงเราก็บ่นกันแต่ข้อเท็จจริงคือ ราคาน้ำมันจริงๆ ในประเทศ 20 กว่าบาทต่อลิตรเท่านั้น แต่องค์ประกอบของราคาน้ำมัน 1 ลิตรนั้นยังประกอบไปด้วยส่วนผสมของเอทานอล และไบโอดีเซล รวมทั้งมีภาษีในส่วนต่างๆ เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเราเสียอยู่ลิตรละ 5.99 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันของเราจึงมาอยู่ที่ 38 – 40 บาทต่อลิตร ซึ่งในเรื่องนี้หากมีกฎหมายเราก็จะดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้”

จะมองว่าเป็นข่าวดีของประชาชนที่ครม.ได้ตรึงราคาค่าไฟ-ค่าน้ำมันดีเซลออกไป แต่ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจใช้ไฟฟ้า-น้ำมัน อย่างไม่สนความสิ้นเปลือง!!!