กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่มีการออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ป.ป.ช. รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีการตรวจสอบโครงการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดินตั้งแต่ปี 2565 ในพื้นที่ภาคอีสานใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝนและเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง โดยในพื้นที่ภาคอีสานมีการใช้งบประมาณรวมกว่า 5,000 ล้านบาท

 โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่จังหวัดนครพนม พบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อบจ.นครพนม ใช้งบประมาณในการขุดลอกโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน มากที่สุด จากเอกสารหลักฐานพบว่าในปี 2565 มีการเสนอโครงการเพื่อดำเนินการจำนวนมากถึง 519 โครงการ ใช้งบประมาณไปกว่า 259 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 มีจำนวน 59 โครงการ ใช้งบประมาณไป มากกว่า 29 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2567 มีการเสนอโครงการไป 60 โครงการ รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท รวมโครงการทั้งสิ้น 867 โครงการ เป็นเงินงบประมาณกว่า 433 ล้านบาท

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 12 อำเภอ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการธนาคารน้ำใต้ดินทั้งหมดที่เสนอของบประมาณเพียง 26 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 13 ล้านบาท นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการส่วนใหญ่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ และเสนอโครงการไม่เกิน  5 แสนบาททั้งหมด 

ขณะเดียวกันจากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ในหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดนครพนมว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับงบประมาณมากสุด ในโครงการบริหารจัดการน้ำธนาคารน้ำใต้ ที่เป็นงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อบจ.นครพนม ที่ได้รับงบประมาณมากสุด รวมสามปีมากกว่า 430 ล้านบาท มากที่สุดในปีงบประมาณ 2565 มีการเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่า 250 ล้านบาท

สำหรับในงบประมาณปี 2565 รวมถึงงบประมาณ 2566 มีการเบิกจ่ายงบประมาณตรวจรับงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  เหลือเพียงโครงการในปีงบประมาณ 2567 บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดยังระบุอีกว่า อบจ.นครพนม ได้รับงบประมาณมากสุดเนื่องจากมีการเสนอของบประมาณตรงกับกระทรวงมหาดไทย ส่วนการร้องเรียนตรวจสอบ ยืนยันท้องถิ่นจังหวัดไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ เพียงตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน หากถูกต้องตามระเบียบทางราชการ จะสามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามขั้นตอน แต่หากหากมีการร้องเรียนเรื่องทุจริต จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเกี่ยวข้องตามเอกสารหลักฐานที่มีการร้องเรียน แต่ในส่วนของอบจ.นครพนม มีการเบิกจ่ายงบประมาณโดยตรง ส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครพนมมีหน้าที่เพียงพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง

ทั้งนี้ นายวัฒนา ไตรยราช ส.อบจ.นครพนม เขต อ.นาแก รวมถึง ว่าที่ร้อยตรี พีรยุทธ ตั้งตระกูล สจ.โจ ส.อบจ.เขต อ.เมืองนครพนม นายนาวิน นามเรือง อดีต ส.อบจ.เขต อ.นาแก ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ที่มีการติดตามคัดค้านการใช้งบประมาณ เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ไม่มีความคุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และกระทบต่อการใช้งบประมาณภาษีของประชาชน นอกจากจะมีการนำเอกสารหลักฐาน ร้องต่อ ปปช.นครพนม ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริต และตรวจสอบย้อนหลังหากพบว่ามีการทุจริตให้ดำเนินการตามขั้นตอน ยังได้นำเอกสารหลักฐานยื่นต่อ สำนักงานการตรวจเงินแผนดิน จ.นครพนม เพื่อให้มีการตรวจสอบติดตามการใช้งบประมาณ ในการดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ของ อปท. ทุกแห่ง รวมถึง อบจ.นครพนม เพื่อความโปร่งใส และชาวบ้าน ได้รับประโยชน์สูงสุด

นายวัฒนา กล่าวว่า ตนเป็นสมาชิก สภาอบจ.นครพนม ที่ติดตาม ศึกษาโครงการธนาคาร น้ำใต้ดิน มาตลอด ยอมรับว่าโครงการที่ อบจ.นครพนม ดำเนินการ ใช้งบประมาณไปกว่า 430 ล้านบาท ไม่ตรงตามหลักทฤษฎี การขุดธนาคารน้ำใต้ดิน หลายอย่าง ทั้งพื้นที่ องค์ประกอบ ความเหมาะสม เชื่อว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ไม่คุ้มค่ากับภาษีของประชาชน ตนไม่มีเจตนาที่กล่าวหาใคร แต่อยากให้ หน่วยงานระดับจังหวัด สตง. รวมถึง ปปช.ตรวจสอบ ดำเนินการ ความเหมาะสม ความคุ้มค่า เพราะเป็นภาษี ของประชาชน เพราะปัจจุบัน ทราบว่า จะมีการดำเนินการต่อเนื่อง ทำให้งบประมาณสูญเปล่าแทนที่จะนำไปพัฒนาด้านอื่น ที่จำเป็น

ด้านนางกรกนก ศิลา นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกลุ่ม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครพนม ระบุว่า หากมีข้อร้องเรียน ทาง สตง.นครพนม จะต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการเพื่อตรวจสอบย้อนหลังเป็นหลัก เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ หากพบว่า มีการใช้งบไม่คุ้มค่า หรือไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้มาตรฐาน จะต้องมีการพิจารณาสั่งให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ แก้ไข หรือหากพบว่ามีการทุจริต จะส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.นครพนม เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตต่อไป ตามขั้นตอน ยืนยัน สตง.นครพนม พร้อมตรวจสอบทุกหน่วยงาน ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินให้มีความโปร่งใส

ส่วนนายปริญญา ฤทธิ์ตา เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตชำนาญการ  เปิดเผยว่า หลังได้รับการร้องเรียน ทาง ปปช.นครพนม พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามกระบวนการ โดยมีสองแนวทางในการดำเนินการ คือการป้องกันปราบปราม ในส่วนที่ยังไม่ดำเนินการ แต่ในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว หากตรวจสอบว่า ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณ หรือแสวงประโยชน์ จากโครงการถือว่าเป็นการทุจริต จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ฝากประชาชน สามารถร้องเรียนตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะที่นายพิทักษ์ ต่อยอด อดีตนายก อบต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม ต้นแบบแนวคิด โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ยืนยัน ว่า อบต.บ้านผึ้ง คือต้นแบบแนวคิดโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่ศึกษา วิจัย ดำเนินการ มาจนเกิดประโยชน์ มาตั้งแต่ ปี2559 ถือว่า ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงระดับประเทศ ตนไม่ขอเอ่ยว่า ใครทำผิดทำถูก เพียงอยากให้เข้าใจว่า หลักการขุดธนาคารน้ำใต้ดิน จะต้องผ่านการสำรวจชั้นดิน ความเหมาะสม ตามสภาพพื้นที่และจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน มีองค์ประกอบครบ ถึงจะเรียกว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน ต้องมีทฤษฎีแรงเหวี่ยงของโลกมาเป็นองค์ประกอบ รวมถึงการขุดสะดือ กลางบ่อ เพื่อดูดน้ำลงดิน จะต้องเป็นไปตามทฤษฎี ทั้งหมด หากขุดในพื้นที่ไม่เหมาะสม ถือว่าไม่เกิดประโยชน์แน่นอน