เกมการเลือก “ประมุขสภาสูง” ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งชัดเจน ทั้งตอกย้ำว่า สภาสูงแห่งนี้มีเจ้าของแล้ว !

เมื่อ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” ขยับเกมรวดเร็ว  เฉียบขาด และสงบนิ่ง ไม่เน้นลีลา แต่พุ่งเป้าไปที่การรุกฆาต กินรวบทั้งกระดาน   ปรากฏออกมาว่า ทั้งเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา” และ “รองประธานวุฒิสภา” อีก 2 ที่นั่ง ตกเป็นของ “สว.สีน้ำเงิน” ชนิดที่ไม่มีการพลิกโผ ไม่ต้องลุ้นกันให้เหนื่อย

“มงคล สุระสัจจะ” เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง 159 เสียง ชนะขาด “นันทนา นันทวโรภาส” สว.พันธุ์ใหม่ ที่ออกเฉด “ส้ม” และ “นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ” เรียกตัวเองว่า สว.สายสีขาว เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใคร  ซึ่งทั้งคู่ได้คะแนน “หลักสิบ” เท่านั้น

 “บิ๊กเกรียง” พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์  คว้าเก้าอี้ รองประธานฯ คนที่ 1 ตามคาดหมาย ด้วยคะแนน 150 คะแนน แม้จะมีการนับคะแนนกันใหม่ แต่ผลก็ไม่เปลี่ยนแปลง รองประธานฯ คนที่ 1 ยังชื่อ บิ๊กเกรียง เหมือนเดิม

ส่วน “บุญส่ง น้อยโสภณ” นั่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 กวาดแต้มไปได้สูงที่สุด อยู่ที่ 167 เสียง ส่วนผู้ท้าชิงจากสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ อย่าง “ อังคณา นีละไพจิตร”  ได้ไปแค่ 18 คะแนน

หมายความว่าในศึกชิงเก้าอี้ประมุขสภาสูง ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศศักดาของ “สว.สีน้ำเงิน” สังกัดบ้านใหญ่บุรีรัมย์ และเชื่อมโยงไปถึง “พรรคภูมิใจไทย” ที่ใช้ “สีน้ำเงิน” เป็นสัญลักษณ์ประจำพรรค  แม้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย  ในฐานะหัวหน้าพรรค จะ “ถ่อมตัว” ว่าเรื่องสว.สีน้ำเงิน “กินรวบ”  3เก้าอี้ของสภาสูงก็ตาม

ผลจากการลงคะแนนเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 ก.ค.67 ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นว่า สภาสูงชุดนี้เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใดแล้ว ยังชี้ให้เห็นในช็อตต่อไปที่ “คะแนนโหวต” ที่สว.พันธุ์ใหม่ ซึ่งประกาศตัวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสว.บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ว่า แท้จริงแล้ว “สว.” ที่มีอยู่ในมือนั้น มีอยู่เท่าใด

จากที่ก่อนหน้านี้ สว.นันทนา เคยออกมาประกาศว่า ในกลุ่มมีสว.ราว 30 คน และมีแนวโน้มที่จะ “เพิ่มขึ้น” นั้นอาจจะห่างไกลกับ “คะแนนจริง” ที่ปรากฏเมื่อวันโหวตศึกชิงเก้าอี้ประธานและรองประธานฯ แล้วว่า ทั้งสว.ในปีกกลุ่มพันธุ์ใหม่ นั้นมีไม่ถึง 30 แต้ม ไม่ได้มีใครได้คะแนน “แตะ” ไปถึง 20 เสียงด้วยซ้ำ !

เสียงสะท้อนจาก “อังคณา นีละไพจิตร” สว.พันธุ์ใหม่ ที่พ่ายแพ้ ให้กับบุญส่ง น่าจะชี้ให้เห็นทั้ง “ความไม่ปกติ” ว่า เสียงโหวตของทั้งสามคน คือ มงคล บิ๊กเกรียง และบุญส่ง นั้นมีลักษณะ เป็นกลุ่มเป็นก้อน คะแนนพุ่งทิ้งห่าง ฝั่งตรงข้ามแทบไม่ต้องนับ

ประการต่อมาคือความยากง่ายในการทำงานของสภาสูง จากนี้ไปจนครบวาระอีก 5ปีข้างหน้านั้น  สว.สายบ้านใหญ่ คงไม่เพียงแต่จะ “ยึด” ตำแหน่งหลักในคณะกรรมาธิการฯ สำคัญ โดยเฉพาะที่จะ “เอื้อ” ต่อพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ในรัฐบาล เพื่อ “เลี่ยงการตรวจสอบ” จากสภาสูง ตามมาได้ด้วยหรือไม่

และยังไม่ต้องพูดถึง สถานการณ์ในวันข้างหน้าที่สว.พันธุ์ใหม่ สว.กลุ่มอิสระ จะถูก “กลืน” จะแปรสภาพกลายเป็น “สว.งูเห่า” เมื่อถึงวาระที่พรรคใด พรรคหนึ่งต้องการ “เสียงโหวต” เพื่อการใด การหนึ่ง ในการผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ ไปจนถึงการเลือกบุคคลเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระ ที่ใกล้จะหมดวาระหลายคน ในหลายองค์กร ที่ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการชี้เป็น ชี้ตายให้กับ “สภาล่าง” ทั้งสิ้น

ศึกประลองกำลังยกแรกผ่านพ้นไปแล้ว ผลแพ้-ชนะ ก็ชัดแจ้งให้ได้ประจักษ์ ผ่านคะแนนโหวตที่สะท้อนให้เห็นว่า “สว.สีน้ำเงิน” ยึดทั้งสามเก้าอี้ ไม่เหลือเอาไว้ให้กลุ่มใดทั้งสิ้น เช่นนี้ สว.พันธุ์ใหม่ เฉดส้ม จะคิดอ่าน ทำประการใด  !?