ร่างกฎหมายคุมราคาน้ำมันเสร็จแล้ว "พีระพันธุ์" ลั่นหลังบังคับใช้ "ผู้ค้า" ขึ้น-ลงราคาตามอำเภอใจไม่ได้

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการโครงสร้างราคาน้ำมัน ภายใต้แนวคิดรื้อ ลด ปลด สร้างว่า ขณะนี้องค์ประกอบต่างๆเป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันขึ้น-ลง ตามอำเภอใจ ทุกวันนี้ไม่มีใครคุมได้ ผู้ค้าคิดจะขึ้นก็ขึ้น คิดจะลงก็ลง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้คือ การแก้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจ ได้แต่ขอความร่วมมือ โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้ ร่างเสร็จแล้ว ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ โดยหลังจากนี้ จะส่งให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้งก่อนประกาศใช้ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะทันปีใหม่หรือไม่ แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด 

ทั้งนี้เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 เราตั้งกองทุนน้ำมัน แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 42/2547 โดยให้อำนาจกองทุนดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับน้ำมันได้ 2 ขา ขาหนึ่งใช้เงินกองทุน อีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี โดยกองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจในการจัดเก็บภาษี แต่มีอำนาจในการกำหนดเพดานภาษี เราจึงใช้ตรงนี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ นอกจากใช้เงินยังใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมได้ด้วย โดยเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง แต่ต่อมาปี 2562 มีกฎหมายมารองรับยกฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนออก เหลือแต่ใช้เงินอย่างเดียว ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2562 ตัวเลขกองทุนจึงเป็นหนี้ขึ้นมาจำนวนมากและติดลบเป็นต้นมา เพราะการกำหนดเพดานภาษีซึ่งเป็นอำนาจของกองทุนไม่มีแล้ว 

"ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการกำหนดเพดานของภาษีที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะส่งผลให้การควบคุมราคาน้ำมันเป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายจากเดิมที่อาศัยการขอความร่วมมือ หลังจากนี้การขึ้นลงของราคาน้ำมันจะเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ในขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ยกร่างแล้วเสร็จและจะมีการส่งดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปอย่างรวดเร็วที่สุด"

โดยที่ผ่านมาได้พยายามขอให้กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิต แต่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย ทั้งที่เดิมเป็นอำนาจของกองทุนที่ระบุว่าอย่าเก็บเกินเท่านี้ ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ที่ผ่านมามีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน คือ ไทย เก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร รวมกับภาษีท้องถิ่นอีก 0.51 บาท รวมเป็นภาษีน้ำมัน 6.50 บาทต่อลิตร เวียดนามเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 1.70 บาท สิงคโปร์เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 5.54 บาท แต่สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าไทยประมาณ 10 เท่า

สำหรับอีกคำถามที่พบเจอบ่อยคือ ทำไมราคาน้ำมันในมาเลเซียจึงมีราคาถูกเพียงลิตรละ 10 กว่าบาทเท่านั้น นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันในมาเลเซียมีราคาถูก เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียมีรายได้จากปิโตรเลียม จึงนำเงินรายได้ตรงนี้มาอุดหนุนชดเชยปีละ 3-4 แสนล้านบาท ทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซียมีราคาถูกแต่หลังจากนี้ไปการอุดหนุนชดเชยเริ่มลดลงจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในมาเลเซียเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของไทย ราคาต้นทุนน้ำมันจริงๆจะอยู่ที่ราคาประมาณ 21 บาท แต่เราต้องจ่ายจริง 30-40 บาท เพราะมีเรื่องภาษีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้การช่วยเหลือประชาชนคือ การเอาปัญหาของประชาชนมาเป็นปัญหาของเราแทน เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อน ส่วนเรื่องการชำระหนี้กับ กฟผ.ถ้าต่อไปมีปัญหา รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแล

#ข่าววันนี้ #พีระพันธุ์สาลีรัฐวิภาค #กระทรวงพลังงาน #ราคาน้ำมัน