เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนไป จากที่เคยนั่งเรียนในห้อง กลายเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา เป็นการเรียนที่มุ่งการปฏิบัติมากกว่าหลักการหรือทฤษฏี ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของอายุ เพศ ของผู้เรียนอีกต่อไป หากจะ “อยู่รอด” ให้ได้ในโลกยุคนี้ ต้องเป็นน้ำเพียงครึ่งแก้ว ที่พร้อมเปิดใจเรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือมุ่งมั่นลับเขี้ยวเล็บในสิ่งที่รู้อยู่แล้วเพื่อเติมเต็มและอัปเดตความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของอีกงานสำคัญ “LEARN to EARN Talk : Empowering Learn to Earn Mindset  ที่มูลนิธิเอสซีจี จัดขึ้นในครั้งนี้

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี_

ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า จากปัญหาการว่างงานที่เกิดจากทักษะวิชาชีพไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (Skill Mismatch) ทำให้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทั้งทักษะวิชาชีพ Hard Skills เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และต้องพัฒนาทักษะชีวิต Soft Skills ต้องรักที่จะเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดย Skill Set สำคัญ ได้แก่ 1) ทักษะการสื่อสารและทักษะธธด้านภาษา 2) ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น และ 3) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยงาน LEARN to EARN Talk ในครั้งนี้ จะตอกย้ำให้ทุกคน ทุก Generation และทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ที่สามารถนำไปปฏิบัติจนสามารถสร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมได้ 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การผลักดันแนวความคิดเรื่องเรียนรู้เพื่ออยู่รอดนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ปลุกแนวคิดนี้กับเด็กหรือเยาวชน แต่ต้องปรับที่ตัวระบบด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีเด็กวัยเรียนสามารถเข้าไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพียง 12% เท่านั้น และยังมีเด็กอายุระหว่าง 3-18 ปีที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาอีกประมาณ 1.02 ล้านคน นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษา เพราะการที่เยาวชนที่ควรอยู่ในวัยเรียนแต่กลับออกจากระบบการศึกษาไป เมื่อไปทำงานก็จะมีรายได้ตามวุฒิการศึกษาซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และกลายเป็นปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ความเสมอภาคทางการศึกษาจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ดังนั้น เพื่อที่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้เรียนที่มีอย่างหลากหลายในปัจจุบัน การสนับสนุนการศึกษาจึงควรให้การสนับสนุนที่ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ เช่นการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น ในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลหรือผู้ช่วยทันตแพทย์ ที่ใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีหลังจบ ม.6 ก็จะทำให้นักเรียนที่จบมาสามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้มากกว่าการทำงานด้วยวุฒิ ม.6 และการศึกษานอกระบบที่เป็นการเรียนรู้ในชุมชน หากสามารถปรับทุกพื้นที่ชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นการศึกษาทางเลือกที่ต่างไปจากการศึกษาในระบบโรงเรียน จะทำให้เกิดเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อต่อโอกาสการได้รับความรู้ของเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น

 รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต

รศ. ดร. ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1. สิ่งแวดล้อม 2. โครงสร้างประชากรของประเทศที่ปัจจุบันคนสูงอายุมีมากขึ้น และ 3. เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งที่ทำให้คนต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมทักษะใหม่ๆ รองรับอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นมาในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเป็นอาชีพที่ต้องการทักษะในหลายศาสตร์ผสมผสานกัน และต้องมีความรู้ในเชิงลึก การส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะทำให้ตระหนักได้ว่าทุกวันนี้มีความรู้อะไร และควรหาความรู้ในด้านที่ยังไม่รู้ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยการจัดหลักสูตรที่มีจุดประสงค์ชัดเจน ใช้เวลาเรียนสั้น และเปิดโอกาสให้คนนอกได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาทักษะการทำงานและทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือตอบโจทย์ตลาดแรงงานในปัจจุบันได้ ซึ่งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิตได้ตั้งขึ้นมา 3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนเรียนในระบบประมาณ 2.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ต้องการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน ประมาณ 2.8 หมื่นราย มีหลักสูตรด้าน Professional Skill ให้เลือกเรียนมากกว่า 400 หลักสูตรต่อปี และมีหลักสูตรที่เน้นช่วยเหลือคนกลุ่มเปราะบาง ทุกหลักสูตรเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ผู้เรียนจะได้โอกาส ได้อาชีพ ได้ความรู้เพื่อนำไปจัดการกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเพื่อให้อยู่รอดได้

 ปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง SCG_

ปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง SCG กล่าวว่า โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้ยากต่อการคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น องค์กรจึงต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดย SCG มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถตามการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทัน

โดยที่ผ่านมา SCG ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการจัดทำแผนการเรียนรู้ให้กับพนักงานขององค์กรตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นพนักงานจนถึงวันเกษียณอายุสร้างพื้นที่ให้พนักงานได้มีโอกาสเรียนรู้ โดยทุกหลักสูตรที่วางไว้จะเน้นการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความชำนาญอย่างแท้จริงด้วยวิธีการเรียนรู้แบบ 70:20:10 Blended Learning โดย (70) คือ การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงผ่านการ On the job training การทำ Project การนำความรู้กลับมา apply ใช้และต่อยอดในงาน (20) คือการเรียนรู้จากผู้อื่น มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับ Guest speaker เพื่อนร่วม Class ได้รับการ Coach การดูงาน (Site visit) และ (10) เกิดจากการเรียนรู้ผ่าน Classroom & Workshop & Digital Learning เป็นต้น

นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร The Standard

 นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร The Standard กล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านดิจิทัล ไบโอเทค  รวมถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดงานหรือทักษะใหม่ๆ จึงต้องมีการเรียนรู้เพื่อนำทักษะใหม่ไปตอบโจทย์อาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น   แนวคิดเรื่อง Learn to Earn จึงมีความสำคัญมาก โดยในมุมของสื่อเอง อย่างThe Standard มองว่า สื่อมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้สังคมเกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตสื่อที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงไปพร้อมกันแบบ Edutainment เช่น การพูดคุยกันแบบ non-news ผ่านทางช่อง Podcast  พื้นที่สำหรับการอธิบายเรื่องราวความรู้ ที่ไม่ใช่การให้ความรู้แบบทางวิชาการที่พบตามห้องเรียนทั่วไป ฯลฯ   รวมถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เช่น Internal Academy สำหรับฝึกทักษะให้บุคลากรของเราให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านการเรียนรู้ทั้ง On The Job Training และการโค้ชชิ่ง เป็นต้น 

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และ เปอร์ สุวิกรม

นอกจากนี้ ยังมีช่วงพิเศษ ‘Inspired Talks’ เป็นการพูดคุยถึงแนวทางในการวางแผนอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในโลกที่การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดของ เปอร์-สเปกทีฟ สุวิกรม อัมระนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คดอท จำกัด ที่กล่าวว่าตนเองสนุกกับการเรียนรู้ อะไรที่เรียนแล้วสนุกจะเป็นแรงผลักดันให้อยากเรียนมากขึ้น แต่ที่มากกว่า Learn to Earn คือ Why to Learn เพราะหากตอบคำถามได้ว่าเรียนไปทำไม ทำไมต้องเรียน จะทำให้ Earn จากการ Learn และหากเป็น Fun to Learn ด้วยแล้วก็จะทำให้สนุกกับการเรียนนั้นมากขึ้น ซึ่งในยุคปัจจุบันหากต้องการแตกต่างจากคนอื่น ก็ต้องมีความสามารถพิเศษ และต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องเป็นสิ่งที่เราสนุกที่จะเรียนรู้ เพราะจะไม่รู้สึกว่านั่นคือการเรียนแต่จะทำให้สนุกกับการใช้ชีวิต และไม่ควรหยุดที่จะเรียนรู้เพราะการหยุดเรียนรู้จะเป็นโอกาสให้คนที่ขยันแซงหน้าเราไปได้ นอกจากนี้ ต้องรู้จักที่จะ Learn to Share ด้วย เพื่อต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน สำหรับคนที่ต้นทุนชีวิตไม่สูงก็สามารถเรียนรู้เพื่ออยู่รอดได้หากมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ

ด้าน ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน Host รายการ 15 Minute History และ Morning Wealth และผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้ กล่าวว่า โลกในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและหลากหลาย ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีวันจบ ทุกคนต้องมีทักษะในการเรียนรู้เพื่อให้มั่นใจว่าจะอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน  หลักสูตรการเรียนใดๆ เรียนไปไม่นานก็ใช้การไม่ได้เพราะโลกเปลี่ยน ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญเพราะจะทำให้มีความรู้มีทักษะที่จะใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขื้น นอกจากนี้ความอยากรู้อยากเห็นก็มีความสำคัญ เพราะจะทำให้อยากเรียนรู้  โดยทักษะที่สำคัญในมุมมองของตนนั้นคือทักษะเรื่องภาษา ไม่ว่าจะภาษาอะไรหากชอบก็ควรเรียนไว้เพราะแม้ว่าวันนี้จะไม่ใช่ภาษาที่เป็นที่นิยมแต่ในอนาคตโอกาสอาจจะมาถึง หากเรามีความรู้และคนอื่นไม่รู้ โอกาสนั้นก็จะเป็นของเรา อีกทักษะหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นในโลกยุคปัจจุบันคือทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา จะตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้เป็นอย่างดี

สำหรับงานในครั้งนี้ นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของมูลนิธิเอสซีจี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาพร้อมผลักดันการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับผู้เรียนและสังคมได้ เพื่อให้สังคมไทยรู้จักเรียนรู้ เพื่ออยู่รอดได้ในกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

ติดตามความคืบหน้าของ LEARN to EARN  และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

#LearntoEarn #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี