สทนช. เกาะติดสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่พร้อมรับฝนตอนบน ควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมเตรียมแผนผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำและยกระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อชะลอการระบายน้ำ แจ้งเตือน 11 จว. ด้านท้ายเตรียมพร้อมรับมือ เผยปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ เกินเกณฑ์เฉลี่ย ต้องปรับแผนการระบายให้เหมาะสมโดยไม่กระทบน้ำในลำน้ำ

 วันนี้ (24 ก.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศ

ทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 ก.ค. 67 คาดว่าจะมีฝนตกในฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกของประเทศ โดยจะตกซ้ำในพื้นที่เดิมเป็นระยะเวลาประมาณ 3 – 4 วัน จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ จ.จันทุบรี และ จ.ตราด ที่ยังอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา และหลังจากวันที่ 30 ก.ค. 67 จะเริ่มกลับมามีฝนตกในภาคเหนือตอนบนและ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะบริเวณ จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ และจะมีฝนตกซ้ำไปจนถึงวันที่ 2 ส.ค. 67 โดยจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ขณะนี้จึงได้มีการติดตามประเมินและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดใน 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 สถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย จุดที่ 2 สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ จุดที่ 3 สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และจุดที่ 4 สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยขณะนี้ปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ในทุกจุด อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม ได้มีแผนในการผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำ แหล่งน้ำ และทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ เช่น บึงบอระเพ็ด ทุ่งบางระกำ ฯลฯ รวมถึงมีการผันน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของเขื่อนเจ้าพระยาผ่านคลองต่าง ๆ เช่น แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย

คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองมหาราช เป็นต้น นอกจากนี้ เขื่อนเจ้าพระยาได้มีการยกระดับน้ำเพื่อชะลอการระบายน้ำ เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการแจ้งเตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำจากการระบายน้ำในอัตรา 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมีน้ำเอ่อล้นในระดับใต้ถุนของบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองสาย แต่จะไม่ท่วมสูงจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้าวของหรือทรัพย์สิน สทนช. ได้บูรณาหน่วยงานในพื้นที่ จังหวัดต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตอนล่าง ให้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำทะเลที่คาดว่าจะหนุนสูงในวันที่ 20 – 27 ก.ค. 67 ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติและการระบายน้ำออกสู่ทะเลช้าลง

 

สำหรับการประเมินปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นจำนวนมาก คือ เขื่อนอุบลรัตน์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าสะสมมากถึง 300 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นถึงเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด โดยในวันนี้เลขาธิการ สทนช. ได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สทนช. พิจารณาปรับเกณฑ์การระบายน้ำ โดยจะต้องไม่ให้กระทบกับปริมาณน้ำในลำน้ำ รวมถึงจะต้องบริหารจัดการเขื่อนทดน้ำในลำน้ำชีในการเร่งระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมพร่องปริมาณน้ำในอ่างฯ ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงอ่างฯ ขนาดกลางซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินความจุ จำนวน 29 แห่ง และอ่างฯ ขนาดเล็ก โดยในส่วนของ

อ่างฯ ขนาดเล็กที่มีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเป็นการเตรียมพื้นที่ว่างของอ่างฯ ให้เพียงพอที่จะรองรับปริมาณฝนซึ่งคาดว่าจะตกหนักในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. นี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไล่ลงมาถึงบริเวณตอนกลางของประเทศ ทั้งนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำชับให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้ได้มากที่สุด