กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี - มูล พร้อมเตรียมแผนรองรับมวลน้ำที่กำลังจะเข้ามา กำชับทุกหน่วยงานแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ 24 ชั่วโมง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

วันที่ 24 ก.ค.67 กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำชี ปริมาณน้ำในลำน้ำตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง มีการแขวนบานประตูระบายน้ำ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อย และเพิ่มการยกบานของเขื่อนชนบท เพื่อเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงต่อไป

ในส่วนของลุ่มน้ำมูล มีการเฝ้าระวังที่สถานีวัดน้ำ M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ +110.35 ม.รทก. (ระดับต่ำกว่าตลิ่ง 1.65 ม.) ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนเสริมกำแพงปิดช่องว่างให้ได้ระดับ +113.50 ม.รทก. นอกจากนี้ยังมีการพร่องน้ำในเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนาให้มากที่สุดเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาเพิ่ม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมกับแขวนบานประตูระบายน้ำที่เขื่อนปากมูล เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ปัจจุบันสถานการณ์ยังอยู่ในภาวะปกติ

กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการจัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล อย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังได้พิจารณาแขวนบานระบายพร่องน้ำในลำน้ำชี-มูล รวมไปถึงพื้นที่แก้มลิงและพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนและช่วยลดภาระการระบายน้ำในช่วงเดือนสิงหาคมที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำมากขึ้น พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำให้มีความมั่นคง แข็งแรง สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์