วันที่ 24 ก.ค.67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ , พล.ต.ต.นิรันดร ศิริสังข์ไชย ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ , พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการพิสูจน์หลักฐานกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงข้อมูลผลการตรวจสอบมาตรฐานของเสื้อเกราะตัวตามภาพที่เป็นข่าว กรณีที่ปรากฏภาพเสื้อเกราะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในสื่อโซเชียลมีเดีย และมีการเสนอข้อมูลว่าเสื้อเกราะตัวดังกล่าววัสดุภายในทำด้วยไม้นั้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีนโยบายในการจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐาน NIJ (National Institute of Justice) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการจัดหาเสื้อเกราะแต่ละครั้งนั้น ผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาจะต้องสามารถบอกแหล่งที่มาของแผ่นเกราะว่าผลิตที่ใด เมื่อใด และเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ ที่กำหนด ในการตรวจรับก็จะมีการยิงทดสอบด้วยกระสุนปืนในระยะห่างตามมาตรฐานที่ NIJ กำหนดด้วย อายุการใช้งานของเสื้อเกราะตามมาตรฐานของ NIJ ที่ได้กำหนดเพื่อรับรองประสิทธิภาพสูงสุดของแผ่นเกราะอยู่ที่ 5 ปี ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าเมื่อเกิน 5 ปีแล้วจะไม่สามารถกันกระสุนได้เลย เพียงแต่ประสิทธิภาพอาจลดลง ขณะเดียวกันก็พบว่ามีบางประเทศหรือผู้ผลิตที่กำหนด Lifespan ของเสื้อเกราะไว้มากกว่า 5 ปี นอกจากนั้น ในการจัดหาเสื้อเกราะ ยังได้กำหนดการประกันคุณภาพเสื้อเกราะ รวมทั้งประกันชีวิตและประกันการบาดเจ็บของผู้สวมใส่ไว้ตามระยะเวลาข้างต้นด้วย หากได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 500,000 บาท หรือเสียชีวิต เป็นเงิน 1,000,000 บาท
สำหรับเสื้อเกราะที่ปรากฏตามภาพในโซเชียลมีเดีย ที่มีหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์ 8A154338 นั้น เป็นเกราะที่ ตร. เคยใช้ในราชการ โดยเป็นหนึ่งในเสื้อเกราะที่ได้สั่งซื้อเมื่อเดือนเมษายน 2553 จำนวนทั้งสิ้น 650 ตัว (เป็นเสื้อเกราะพร้อมแผ่นเกราะแข็ง ระดับ 3 จำนวน 500 ตัว และเป็นเกราะอ่อน อีก 150 ตัว) โดยทุกตัวมีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานของ NIJ และวัสดุที่ใช้เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ราคาในการจัดซื้อสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ และมีอายุการใช้งาน 5 ปี ปัจจุบันเสื้อเกราะดังกล่าวเลิกใช้งานแล้ว โดยหมดอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว โดยหมดอายุการใช้งานเมื่อปี 2559 และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการจำหน่ายและทำลายตามระเบียบราชการ (ยุทธภัณฑ์ของทางราชการซึ่งหมดอายุการใช้งานแล้วจะต้องนำไปทำลายตามที่ระเบียบกำหนด)
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันถึงวัสดุและมาตรฐานของเสื้อเกราะข้างต้น ตร. ได้มอบหมายให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) นำเสื้อเกราะดังกล่าวไปตรวจทางเคมีในห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบพบว่า วัสดุภายในเป็นเส้นใย polyethylene ทับกันเป็นชั้นโดยในแต่ละชั้นใช้ตัวเชื่อมประสาน ซึ่งมีสเปคและคุณลักษณะถูกต้องตามสัญญาการจัดซื้อทุกประการ และเป็นไปตามมาตรฐาน NIJ รวมทั้งยังได้ทดสอบการยิงกระสุนจริงใส่เสื้อเกราะในล็อตเดียวกันที่ซื้อมาเมื่อ พ.ศ. 2553 อีกจำนวน 3 ตัว โดยใช้กระสุนขนาด 9 มม. , ขนาด .357 และ ขนาด .45 อย่างละ 3 นัด รวมจำนวน 9 นัด ผลปรากฏว่า เสื้อเกราะทั้ง 3 ตัวสามารถกันกระสุนได้ทั้งหมด ไม่มีกระสุนนัดใดทะลุเสื้อเกราะ
การจัดหาเสื้อเกราะกันกระสุนที่มีมาตรฐานเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับข้าราชการตำรวจ เป็นนโยบายสำคัญของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ที่มีความห่วงใยในสวัสดิการความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานโดยตลอด ตร.จึงได้กำหนดแผนการจัดหาเพิ่มเติมหรือการจัดหาเพื่อทดแทนของเก่าอย่างต่อเนื่อง การจัดหาครั้งล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,200 ตัว เป็นเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุนพร้อมแผ่นเกราะแข็ง ระดับ 3 และ ระดับ 4 สามารถป้องกันกระสุนปืนได้ตามมาตรฐาน NIJ ได้แก่ กระสุนปืนพก ขนาด 9 มม. , .45 , .357 แม็กนั่ม นอกจากนั้น ตร.ได้ทำแผนการจัดหาในอนาคตเพื่อให้ครอบคลุมในการปฏิบัติงานของตำรวจทุกนายระหว่าง ปี 2567 - 2571 อีกปีละประมาณ 13,000 ตัว ซึ่งตามแผนการจัดหานี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีเสื้อเกราะใช้งานอย่างทั่วถึง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการจัดหาชุดเกราะกันกระสุนโดยยึดมาตรฐานสากลและคำนึงถึงความคล่องตัวสะดวกสบายของผู้ใช้งานตามภารกิจเป็นสำคัญ จึงขอแจ้งให้ข้าราชการตำรวจเชื่อมั่น และโปรดสวมใส่เสื้อเกราะกันกระสุนในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันมิให้มีการสูญเสียจากการปฏิบัติงาน
#ข่าววันนี้ #เสื้อเกราะไม้อัด #ชุดเกราะกันกระสุน #เสื้อเกราะกันกระสุน