วันที่ 24 ก.ค.67 นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม ครั้งที่ 4 ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบผลการดำเนินการ เรื่องการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางให้เป็นพลังงานไฟฟ้า หลังจากกรุงเทพมหานครมีหนังสือต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก เสนอวาระเพื่อพิจารณาการกำหนดรถสาธารณะให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบผลการดำเนินการจากกรมการขนส่งทางบก จึงอยากทราบว่า กรมการขนส่งทางบกได้ตอบหนังสือฉบับดังกล่าวมาแล้วหรือไม่ และมีความคืบหน้าหรือผลดำเนินการเป็นอย่างไร รวมถึง กทม.มีการทำหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.67 ปัจจุบันผ่านไปแล้ว 293 วัน ยังไม่ได้รับคำตอบ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อเสนอแนะเรื่องนี้ว่า ให้ใช้ พรบ.กรมการขนส่งทางบกทดแทน พรบ.บริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก จากการตรวจสอบข้อกฎหมาย พบว่า ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ข้อ 250 วรรค 2 ว่าด้วยการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะใด ๆ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักและศักดิ์ลำดับของกฎหมายเท่ากัน ดังนั้น กทม.ได้ยื่นต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะผู้ตัดสินเรื่องนี้คือศาลปกครอง ไม่ใช่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนี้ อยากทราบว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะได้ผ่านญัตติจากสภากทม.ไปแล้ว
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ทำหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.67 ปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบใดจากกรมการขนส่งทางบก
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ไม่สามารถไปบังคับให้กรมการขนส่งตอบหนังสือดังกล่าวได้ แต่จะรับไปพิจารณาและเร่งรัดผลดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องศาลปกครอง ยอมรับว่าไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ คงต้องไปพิจารณาว่าสามารถฟ้องใครในประเด็นใดได้บ้าง
ส่วนการดำเนินโครงการต่อไปยอมรับว่ายังไม่ทราบแนวทาง เพราะยังไม่ได้รับคำตอบจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของกทม. อย่างไรก็ตาม กทม.มีการแสวงหาทางอื่นดำเนินการทดแทนตามอำนาจที่มี เช่น โครงการเปลี่ยนรถขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า จึงอยากให้สภากทม.ช่วยกันผลักดันเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจให้เกิดขึ้นจริงก่อน
อีกเรื่องคือ การผลักดัน พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อยู่ระหว่างหารือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยเฉพาะการออกกฎห้ามรถดีเซลวิ่งในช่วงฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับวิกฤต (สีแดง) เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการวางแผนการใช้งานรถดีเซลในกรณีฉุกเฉิน หรือเปลี่ยนเป็นรถระบบไฟฟ้าในอนาคตต่อไป
"กทม.พยายามค้นหากรอบตามที่มีอำนาจ ตอนนี้กำลังคุยกับทาง ปภ.อยู่ว่า จะจำกัดเฉพาะช่วงที่มีอุบัติภัย PM2.5 สูง ประกาศห้ามรถดีเซล ยูโรรุ่นไหน ห้ามวิ่งในวงแหวน แต่ต้องคิดถึงผลกระทบในแง่การปฏิบัติด้วย ส่วนเรื่องกำหนดรถโดยสารประจำทางให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ต้องเรียนตรง ๆ ว่าเราสัญญาในสิ่งที่เรารับปากไม่ได้ ไม่ได้ เพราะมีหลายหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง แต่พยายามจะนำแนวทางที่สมาชิกสภากทม.เสนอไปหาทางให้ดีที่สุด" นายชัชชาติ กล่าว