รัฐบาลยกระดับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์ จัดงานสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ ในรูปแบบ Festival “เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง” นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติ ร่วมงานกว่าแสนคน คาดเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท รวมทั้ง จัดให้ชมต้นเทียนพรรษาได้ตลอดเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2567 หวังกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองหลัก กระจายสู่เมืองน่าเที่ยวใกล้เคียง ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านงานวัฒนธรรมประเพณีไทย 

วันที่ 24 กค.67 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยกระดับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เป็นเอกลักษณ์สู่ระดับสากล ตามนโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการจัดงานสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2567 (UBON Candle Festival 2024) อย่างยิ่งใหญ่ ในรูปแบบ Festival ภายใต้ชื่องาน “เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เมืองเทียน เมืองธรรม งามล้ำเมือง 4 แสง” ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง และถนนสายหลักรอบ ๆ ทุ่งศรีเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่าแสนคน คาดการณ์สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท ยกระดับการท่องเที่ยวเมืองหลัก กระจายสู่เมืองน่าเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกผ่านงานวัฒนธรรมประเพณีของไทย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานประจำปีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จัดต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 123 ปี โดยในปีนี้จังหวัดอุบลราชธานี ได้ยกระดับการจัดงานให้เป็นรูปแบบ Festival ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น และจัดให้ชมต้นเทียนพรรษาได้ตลอดเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2567 รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี “เมือง 4 แสง” ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยมีการจัดขบวนแห่เทียน 2 วัน 2 คืน นำขบวนต้นเทียนพรรษา ด้วยเทียนพรรษาพระราชทาน และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน พร้อมขบวนรำ และขบวนอื่น ๆ รวมเกือบ 100 ขบวน มีจุดการแสดงถึง 5 จุด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนให้สามารถชมขบวนแห่ได้อย่างทั่วถึง และมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การเยือนชุมชน ชมวิถีทำเทียน การตกแต่งต้นเทียน ประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์และแบบเทียนโบราณ จากคุ้มวัดต่าง ๆ ในเขตพื้นที่เทศบาลนครอุบลราชธานี กิจกรรมสืบศาสตร์ ยลศิลป์เยือนถิ่นเมืองเทียน เมืองธรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมพื้นถิ่น วิถีวัฒนธรรมส่งเสริมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี และการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ว่า งานดังกล่าวจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานได้นับแสนคน และสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 800 ล้านบาท 

พร้อมกันนี้ ในจังหวัดอื่น ๆ มีการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน อาทิ 

- จังหวัดนครราชสีมา จัดงานแห่เทียนพรรษา “แสงเทียน แห่งธรรม งามล้ำเมืองย่า 72 พรรษา มหาราชา” ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีขบวนแห่เทียนพรรษากว่า 22 ขบวน กิจกรรมการประกวดเทียนพรรษา การแสดงดนตรีวงโปงลางพื้นบ้าน กิจกรรมหล่อเทียนพรรษา และกิจกรรมสาธิตการแกะเทียนพรรษาและพิมพ์เทียน

- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำคลองลาดชะโด ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 “ชลมารคแห่งศรัทธา เทิดไท้องค์ราชาของแผ่นดิน” ณ บริเวณตลาดลาดชะโด อ.ผักไห่ โดยมีขบวนเรือแห่เทียนพรรษา กว่า 180 ลำ ล่องไปตามลำคลองลาดชะโดระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อนำเทียนไปถวายตามวัดต่าง ๆ ในชุมชน พร้อมการแสดงของเรือแต่ละลำสลับกัน ร้องรำทำเพลงตามวิถีของชาวลาดชะโด ที่สืบทอดกันมายาวนาน 

- จังหวัดราชบุรี จัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำในคลองดำเนินสะดวก ไปวัดปราสาทสิทธิ์ ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ในงาน “จัดเห่เรือ แห่เทียนพรรษา ทางชลมารค ล่องคลองดำเนินสะดวก” จัดกิจกรรมมากมาย ทั้งประกวดต้นเทียน การแสดงแสง สี เสียง ชมต้นเทียนพรรษา และขบวนแห่เทียนพรรษากว่า 100 ลำ

อนึ่ง ประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นกิจกรรมสำคัญในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา โดยพุทธศาสนิกชนนิยมหล่อเทียนพรรษาจากขี้ผึ้งตลอดทั้งเดือนก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะ เเละถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน ทั้งยังเป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียนเอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เพื่อแสดงออกถึง ความร่วมมือ ความสามัคคีในหมู่คณะ ร่วมกับการสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือทางช่าง ด้านการแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสืบสานงานบุญพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีไทย พร้อมยกระดับการจัดงานประเพณีที่มีเอกลักษณ์ของไทยสู่ระดับสากล ในรูปแบบ Festival ซึ่งเป็น 1 ใน Soft Power ที่มีศักยภาพของไทย สามารถต่อยอดกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีที่มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเข้ามาสัมผัส ประกอบกับ การสนับสนุนประเพณี ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ซึ่งจะกระจายรายได้เม็ดเงินสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง” นายชัย กล่าว