อิทธิฤทธิ์ปลาหมอคางดำบุก อาละวาดเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบทั้งทางน้ำทางบกยังไม่พอ ล่าสุดชาวบ้านปูดอีก พบลอยมาทางอากาศได้ด้วย เผยมีนกกินปลาเป็นตัวการช่วยให้การแพร่กระจายมีความรุนแรงสูงมากขึ้นในทุกช่องทาง ระบุขณะนกคาบลอยมาบนท้องฟ้าแต่ถูกขย่อนหรือสำรอกหลุดออกมาจากปากตกลงมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ชายฝั่งทะเล ถือเป็นการโจมตีรุกคืบเข้ามาอย่างรุนแรงในทุกรูปแบบทั้งสามเหล่าทัพ

วันที่ 23 ก.ค.67 เวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมยศ จันทร์เกษม อายุ 67 ปี อดีตกำนัน ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า การระบาดอย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำในประเทศไทยตามที่กำลังตกเป็นกระแสข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้ นอกจากการแพร่ระบาดจะมาจากคนที่เป็นตัวการนำเข้ามาแล้ว ยังพบว่าการแพร่กระจายเข้ามายังในพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีการไหลมาตามกระแสน้ำในลำคลองที่เชื่อมต่อถึงกัน จากในเขตพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รวมถึงยังมีชายฝั่งทะเลอยู่ติดกันอีกด้วยนั้น

ปลาหมอคางดำยังสามารถแพร่กระจายเข้ามาทางอากาศได้ด้วย จากนกกินปลา ทั้งนกกระยางและนกกาน้ำที่สามารถดำดิ่งลงไปงมจับปลาจากได้น้ำขึ้นมากินได้ ก่อนที่จะคาบนำบินขึ้นไปสู่ท้องฟ้า และในขณะที่กำลังลอยอยู่บนอากาศ นกตัวที่กินอิ่มมากจนเต็มท้องแล้ว ยังมีการสำรอกหรือขย่อนตัวปลาที่ยังไม่ตายออกมา จนปลาหลุดจากปากที่กำลังคาบอยู่ ตกลงไปยังในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน จึงทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสามารถกระจายตัวไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ไข่ของปลาหมอคางดำ ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวกันว่าที่ จ.สมุทรสงคราม เกษตรกรตากบ่อปลาทิ้งเอาไว้เป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว ยังสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้อีก จึงเชื่อว่าปลาหมอคางดำที่ถูกนกกระยาง และนกกาน้ำ ซึ่งเป็นนกที่มีอยู่ในพื้นที่ อ.บางปะกง นั้น กินเข้าไปแต่ในตัวปลายังมีไข่อยู่ในท้องด้วย เมื่อนกถ่ายมูลออกมาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือชายฝั่งทะเลในบริเวณนี้แล้ว ไข่ปลาอาจจะยังไม่ตายและฟักเป็นตัวออกมาก็อาจเป็นไปได้ จึงถือเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายตัวไปได้ไกลเพิ่มมากขึ้น อีกทางหนึ่งด้วย

โดยเฉพาะพื้นที่ในตำบลสองคลองนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เกือบทุกครัวเรือน ล้วนแต่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับทางด้านประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีแหล่งน้ำทั่วไปอยู่เต็มพื้นที่ และอาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาหมอคางดำที่ลอยมาจากบนฟ้าได้ด้วย ซึ่งชาวบ้านแถวนี้เคยพบเห็นกันบ่อยในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มักจะมีปลาหลงเข้ามาปะปนอยู่ในบ่อเลี้ยง ทั้งที่ไม่ได้เลี้ยงปลา หรือปล่อยปลาลงไปในบ่อเลี้ยง เช่น บ่อเลี้ยงหอยแครง บ่อเลี้ยงกุ้ง จึงเรียกปลาที่หลุดเข้ามาในบ่อจากทางอากาศว่า “ปลาลอยฟ้า”

และเมื่อนำปลาหมอคางดำที่จับมาได้ นำมาผ่าท้องดู แม้จะเห็นว่าเป็นปลาหมอคางดำตัวขนาดเล็กแค่เพียงประมาณ 3 นิ้ว ในท้องก็ยังพบว่ามีไข่อยู่เต็มท้องแล้ว นายสมยศ กล่าว