วันที่ 23 ก.ค.2567 เวลา 16.20 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราว พิจารณาวาระเลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่2 ภายหลังที่ประชุมมีมติเลือกนายมงคล สุระสัจจะ สว. เป็นประธานวุฒิสภา และพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่1 ไปแล้ว โดยประธานที่ประชุมฯ ได้แจ้งขั้นตอนการเลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่2 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่1 และเปิดให้เสนอชื่อ โดยนายมงคล สุระสัจจะ สว. ว่าที่ประธานวุฒิสภา เสนอชื่อนายบุญส่ง น้อยโสภณ สว. จากกลุ่มอิสระ ที่ถือเป็นตัวเต็งในตำแหน่งนี้ตามโผ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่2 น.ส.นิชาภา สุวรรณนาค สว. เสนอชื่อนายปฏิมา จีระแพทย์ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่2 ซึ่งถือว่าได้เสนอชื่อเป็นรอบ2 หลังจากก่อนหน้านี้เสนอชื่อชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิฯ คนที่1 น.ส.ตวงคุณ ทรงธรรมวัฒน์ สว. เสนอชื่อ ทพ.พงษศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่1 และนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. เสนอชื่อนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่2 สรุปรวมบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 จำนวน 4 คน มีผู้รับรองถูกต้อง
จากนั้นประธานที่ประชุมได้ให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้ง4คนแสดงวิสัยทัศน์คนละ5นาที มีบุคคลเป็นตัวเต็งที่จะได้รับตำแหน่ง โดยนายบุญส่ง ลุกขึ้นแสดงวิสัยทัศน์เป็นคนแรกในเวลา16.30น.ว่า วันนี้พบกันเป็นทางการครั้งแรก หลายคนอาจจะรู้จักกันมาก่อนแต่หลายคนก็ไม่รู้จักกันมาเลย จึงได้เห็นหน้ากันวันนี้ ฉะนั้นการแสดงวิสัยทัศน์ถือเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานสำคัญกว่า ฝ่ายเลขาธิการวุฒิสภาควรนำประวัติขึ้นฉายให้สมาชิกได้พิจารณาด้วย ตนรับราชการตั้งแต่อายุ 17 ขณะนี้อายุ 75 ปี มาสมัครเป็นสว. ก็คิดว่าจะรับใช้ชาติบ้านเมืองในช่วงท้ายของชีวิต ส่วนประวัติการทำงาน เริ่มจากการเป็นทหารอากาศ โอนมาอยู่อัยการได้ 6 เดือน ก็โอนไปเป็นผู้พิพากษาได้ 36 ปี ผ่านการทำหน้าที่ ตุลาการผู้พิพากษา และทำหน้าที่บริหารในองค์กรค่อนข้างยาว เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เป็นศาลยุติธรรม ระดับจังหวัด 4 ปี รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 11 ปี ถือเป็น 15 ปีในชีวิตด้านกระบวนการยุติธรรม และช่วงที่ตนอยู่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตนได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นเวลา 4 ปี ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ปี ทั้งสองกรรมการก็มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบผู้พิพากษาทั่วประเทศ รวมทั้งทำงานศาลยุติธรรมทุกชั้นศาลทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อตนได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชุดที่4 ก็ทำงานได้4ปี8เดือน หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว ก็ได้รับการแต่งตั้งจาก กกต.ชุดปัจจุบันให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านกฎหมายจนลาออกและมาสมัคร สว. นอกจากนี้ตนยังเป็นที่ปรึกษาของอดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2(นายศุภชัย สมเจริญ) เป็นเวลา 5 ปี
“ประวัติการทำงานของแต่ละท่านเป็นส่วนสำคัญ แต่วิสัยทัศน์สามารถแต่งได้ ทำได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ จึงต้องสังเกตอีกครั้งว่าการเลือกในลักษณะนี้ต้องมีประวัติการศึกษาการทำงานให้เห็นก็จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกที่จะพิจารณาได้ ซึ่งจากประวัติการทำงานของผมที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าความรู้ทางด้านกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ผมสามารถเข้าใจได้ดี และจะทำหน้าที่ให้อย่างดี เพื่อนำองค์กรของวุฒิสภาได้รับความศรัทธา ความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน”นายบุญส่ง กล่าว
นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า บทบาทของวุฒิสภาที่สำคัญที่สุดก็คือกรรมาธิการวุฒิสภา ใครจะเป็นประธานแต่ละชุด แต่ละคณะเป็นเรื่องสำคัญ และเวลาแต่งตั้งเรื่องใดต่างๆ ตนขอความกรุณาว่าขอให้ช่วยคัดสรรคนสักหน่อย สภาฯชุดที่แล้วกมธ.แต่คณะจะแต่งตั้งที่ปรึกษา นักวิชาการ และเลขานุการ กี่คนก็ได้ แต่ต้องไม่เกินคณะละ 200,000 บาทต่อเดือน ฉะนั้นขอความกรุณาทุกท่านที่อยู่ในคณะต่างๆได้ตั้งคนดีมีความรู้ความสามารถให้เหมาะสมกับคณะที่ท่านอยู่ให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่จ่ายแต่ละเดือน ก็หวังว่ากรรมาธิการทั้งหลายที่มีส่วนสำคัญ นอกจากการพิจารณากฎหมายแล้วท่านยังต้องควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยต้องรับคำร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนต้องตั้งกระทู้ถาม เป็นประโยชน์กับกรรมาธิการสูงสุด
“ผมเน้นที่กรรมาธิการ จะทำอย่างไร ให้กรรมการ ทำงานมีประสิทธิภาพ เราก็ต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานอื่นๆ ให้ทางวิชาการมีพร้อม ที่จะเสนอกรรมาธิการแต่ละคณะและสุดท้ายฝ่ายเลขานุการของเราก็เช่นกันคือสำนักเลขาธิการวุฒิสภาอยากให้ช่วยกันผลักดันช่วยส่งเสริมให้เขาได้ทัดเทียมกับองค์กรอื่น ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ มีความรู้ทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นจะเป็นไปอยู่ในการทำงานอย่างยิ่ง” นายบุญส่ง กล่าว
นายบุญส่ง กล่าวด้วยว่า สุดท้ายในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์กรของเราก็ต้องมีความสัมพันธ์ตรงนี้ด้วยไม่ว่าจะด้านวิชาการ ทวิภาคี จะได้ทำให้วุฒิสภาได้รับความเชื่อถือได้รับความศรัทธา จากพี่น้องประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตนหวังว่า5ปีข้างหน้านี้พวกเราจะทำงานร่วมกันให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ในด้านการกรองกฎหมายรับผิดชอบราชการบริหารแผ่นดินและที่สำคัญที่สุดคือการแต่งตั้งองค์กรอิสระ หวังว่าพวกเราจะช่วยกันทำงานตรงนี้ให้สำเร็จไปได้ด้วยดี
ต่อมาเวลา 16.48 น. นางอังคณา แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนขอบคุณที่ได้รับการเสนอชื่อในครั้งนี้ สว.ชุดนี้ประกอบด้วยความหลากหลาย ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัยวุฒิ คุณวุฒิ และหน้าที่ในการทำงาน แต่น่าเสียดายคนที่อาสาสมัครไม่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้นำในฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนตัวเป็นคนธรรมดา หากได้รับเลือกเป็นรองประธานฯคนที่2 ขอเน้นย้ำที่สำคัญเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภา 1.จะสนับสนุนและร่วมมือกับประธาน และรองประธานวุฒิ และสว.ทำงานอย่างอิสระ มีความเป็นกลาง เป็นธรรม ไม่ลำเอียง เป็นที่พึ่งของประชาชน และมีความพร้อม ในการเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งทางสังคม บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน 2.ยืนยันจะทำหน้าที่โปร่งใส ในฐานะสว.จะยึดโยงกับประชาชน หรือชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำหน้าที่ของสว.ในการแก้ปัญหา รวมถึงการพัฒนากฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผลกระทบต่อประชาชน 3.สิทธิพลเมือง และทางการเมือง เป็นสิทธิที่ไม่อาจแยกจากกันได้ การเมืองภาคพลเมืองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย การเสนอร่างกฎหมายของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย รวมถึงการเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกอย่างสันติของประชาชน จะต้องได้รับความเคารพ และส่งต่อข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภา เป็นสำคัญยิ่งในการวางรากฐานสำคัญทางการเมืองใน
นางอังคณา กล่าวต่อว่า ในด้านการต่างประเทศมีความสำคัญอย่างมากในการให้ความร่วมมือ และประสานการทำงานระหว่างรัฐสภาไทย ในระดับภูมิภาค และระดับโลก รัฐสภาไทยในฐานะสมาชิกสหภาพรัฐสภามีบทบาทสำคัญ หลายประการ ซึ่งครอบคลุมมิติทางการเมือง การความมั่นคง สิทธิมนุษยชน ทางกฎหมาย เสมอภาคทางเพศ และอื่นๆ การสนับสนุนให้สว.มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ประธานกมธ.สามัญของสหภาพรัฐสภา โดยเป็นตัวแทนจากกลุ่มภูมิประเทศ จึงมีความสำคัญ นอกจากนั้นขอสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ให้มีส่วนร่วมของผู้หญิงในการพัฒนาของแผนงานผู้หญิงในสหภาพรัฐสภา และผลักดันให้สว.หญิงของไทยมีโอกาสทำหน้าที่ในด้านต่างๆเพื่อเน้นย้ำบทบาท และศักยภาพของสว.หญิงของไทยในเวทีโลก และอันสุดท้ายการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยยะสำคัญของสว.สตรี
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ความเสมอภาคทางเพศมีความสัมพันธ์ในการพัฒนาประเทศ และความเท่าเทียมและโอกาสที่เป็นธรรมสำหรับทุกเพศ การส่งเสริมผู้หญิงในดำรงตำแหน่งประธาน และรองประธานวุฒิสภา รวมถึงประธานกมธ.ต่างๆ ไม่เป็นเพียงการสร้างความเสมอภาค เท่าเทียมในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการสนับสนุนพัฒนาสังคมที่ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและเท่าเทียมสำหรับทุกคน เหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงมีความรู้ความสามารถหลายคน ไม่อยากเข้าสู่การเมือง เพราะนักการเมืองหญิงมักถูกด้อยค่าหรือถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปัจจุบันมีนักการเมืองหลายคนที่ถูกด้อยค่า โดยใช้เพศในการคุกคาม โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์
“ในฐานะวุฒิสภาเราจะต้องไม่อดทนกับสิ่งเหล่านี้ และต้องมีกลไกเราเพื่อปกป้องสว.หญิงจากการกระทำที่ล่วงละเมิด จึงเชื่อมั่นว่าการที่ผู้หญิงได้รับตำแหน่งผู้นำวุฒิสภาจะเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วประเทศ ได้เห็นว่าพวกเธอสามารถมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างการเมืองที่โปร่งใส สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม และทุกคนสามารถประสบผลสำเร็จในฐานะนักการเมืองหญิง และได้รับการยอมรับจากสังคมได้” นางอังคณา กล่าว