เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายอากาศทั่วไประหว่างวันที่ 23 - 29 กรกฎาคม 2567 ว่าในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออก
ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง มีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
อนึ่ง พายุโซนร้อน "พระพิรุณ" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนแล้วในช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ค. 67 คาดว่าจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ส่วนพายุโซนร้อนแคมีบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนไปทางด้านตะวันออกของประเทศจีนในช่วงวันที่ 24 - 26 ก.ค. 67 โดยพายุทั้งสองไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
ข้อควรระวังขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง
ประกาศเตือนฉบับที่ 8 พายุ "พระพิรุณ"
วันเดียวกัน(23 ก.ค. 2567) เมื่อเวลา 16.30 น. นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 8 เรื่อง พายุพระพิรุณว่า เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ (23 ก.ค. 67) พายุโซนร้อน "พระพิรุณ" ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองก๋วงนินห์ ประเทศเวียดนามตอนบน โดยเมื่อเวลา 13.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.3 องศาตะวันออกมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับในระยะต่อไป พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศเป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้ (ประกาศ ณ วันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น.)
ประกาศเตือนพายุพระพิรุณ ฉบับที่ 8
คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่าง 23 - 29 ก.ค. 2567
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 - 35 องศาเซลเซียส
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29 - 35 องศาเซลเซียส
พยากรณ์ฝนสะสม 29 กรกฎาคม 2567
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 24 - 26 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่
ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 29 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1 - 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 - 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 - 36 องศาเซลเซียส
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
ในช่วงวันที่ 24 - 25 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 40 ของพื้นที่
ตั้งแต่จังหวัดพังงา ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 29 ก.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 - 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 - 36 องศาเซลเซียส
กรุงเทพและปริมณฑล
มีฝนหรือฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 25 กม./ชม.
อุณหภูมิต่ำสุด 25 - 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 - 36 องศาเซลเซียส