แม้ไม่ผิดคาด แต่ก็ต้องถือปัจจุบันทันด่วนมิใช่น้อย

สำหรับ การประกาศถอนตัวจากการลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึงมีขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 13.45 น. ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาท้องถิ่น

ก็ไม่ผิดคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ของเหล่าบรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ประธานาธิบดีไบเดน คงต้องประกาศถอนตัวไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะทนกระแสเรียกร้อง แกมกดดันอย่างหนักไม่ไหวจากเหล่าพลพรรคเดโมแครตที่เขาสังกัด รวมถึงกลุ่มทุนบริจาคเข้าพรรคฯ ที่ร่วมประสานเสียง “ไม่เอาไบเดน” ตลอดจนกระทั่งประชาชนชาวอเมริกันที่ลงทะเบียน พร้อมโหวตลงคะแนนให้แก่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งของทางพรรคเดโมแครต จำนวนไม่น้อย ต่างก็ออกมาส่งเสียง “ยี้ไบเดน” ผสมโรงไปด้วยเช่นกัน

โดยการประกาศถอนตัวของประธานาธิบดีไบเดน ก็เรียกได้ว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ กันเลยก็ว่าได้ เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน ที่ประธานาธิบดีของประเทศ ซึ่งได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต มีจำนวนมากพอ จนได้สิทธิที่จะเป็นตัวแทนของพรรคฯ ไปสู้ศึกเลือกตั้งในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าแล้ว กลับต้องมาประกาศถอนตัวไปเสียก่อน ไม่ผิดอะไรกับขุนศึกตกม้าตาย ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ประดาบ ประอาวุธ กับคู่ต่อสู้แม้แต่เพลงเดียว

ทั้งนี้ ก็ด้วยเหตุผลในเรื่องความชราภาพ และปัญหาสุขภาพของประธานาธิบดีไบเดน ที่มีวัยสูงถึง 81 ปีแล้วโดยแท้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยที่ยากจะกู่เรียกกลับตามวาระสังขาร แตกต่างจากคะแนนนิยมที่หล่นหายไป ที่หากมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างถูกช่อง ตรงจุด ก็อาจเรียกคะแนนนิยมให้กลับฟื้นคืนมาอีกได้

เมื่อประธานาธิบดีไบเดน ประกาศถอนตัวกันเช่นนี้ ก็ทำให้มีคำถามต่างๆ ตามมาสารพัดว่า แล้วทางพรรคเดโมแครต จะเดินหน้าไปอย่างไรต่อนับจากนี้?

เริ่มจากผู้ที่จะมาชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 แทนประธานาธิบดีไบเดน?

เบื้องต้นตามถ้อยแถลงของประธานาธิบดีไบเดน ก็ประกาศสนับสนุนนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงของเขา ซึ่งจะมีอายุครบ 59 ปีเต็มในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ให้มารับไม้ต่อ

อย่างไรก็ดี รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-จาเมกาผู้นี้ ก็ยังหาได้มารับไม้ต่อจากประธานาธิบดีไบเดน แบบง่ายๆ เหมือนอย่างกีฬาวิ่งผลัดไม่

ทว่า รองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ ยังต้องผ่านการรับรองจากบรรดา “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือที่หลายคนก็เรียกว่า “ผู้แทนการลงคะแนนเสียง” ของพรรคเดโมแครตในรัฐต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ มีจำนวนรัฐทั้งสิ้น 50 รัฐด้วยกัน มีผู้แทนการลงคะแนนเสียงรวมแล้ว 4,672 เสียงด้วยกัน ประกอบด้วย ผู้แทนทั่วไป จำนวน 3,949 เสียง และผู้แทนพิเศษ อันเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคฯ จำนวน 739 เสียง โดยผู้ที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคฯ ไปสู้ศึกเลือกตั้ง ก็จะต้องได้รับการรับรองจากบรรดาผู้แทนเหล่านี้มากกว่ากึ่งหนึ่ง คือ มากกว่า 1,975 เสียงของจำนวนผู้แทนทั่วไป ซึ่งปรากฏว่า รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ได้มาแล้ว 2,214 เสียง อันถือว่าเกินกึ่งหนึ่ง

สำหรับ การรับรองให้รองประธานาธิบดีแฮร์ริสอย่างเป็นทางการ เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 แข่งกับตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ที่รับรองให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ก็จะมีขึ้นในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ซึ่งจะมีขึ้นที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในระหว่างวันที่ 19 – 22 สิงหาคมนี้ ต่อไป

นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ในการหาเสียงมาสนับสนุนข้างต้น เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า อาจส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกภายในการเมืองได้เหมือนกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการเอาชนะกันให้ได้ระหว่างผู้สมัครภายในพรรค โดยภายในพรรคเดโมแครต ก็มิใช่แต่เฉพาะรองประธานาธิบดีแฮร์ริสที่โดดเด่น แต่ทว่า ยังมีนักการเมืองคนอื่นๆ ที่บทบาทสำคัญจนเป็นที่น่าจับตา เช่น นายเกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

นายเกวิน นิวซอม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในนักการเมืองคนสำคัญของพรรคเดโมแครต ขณะหาเสียงกับประชาชน (Photo : AFP)

โดยหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้พรรคเดโมแครตเสียเปรียบต่อพรรครีพับลิกัน ด้วยระยะเวลาในการเลือกตั้งที่จะถึงนั้นเหลือไม่มาก เพียง 100 กว่าวันเท่านั้น

นอกจากการชิงชัยภายในพรรคฯ เพื่อให้ได้รับการรับรองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้ว คาดว่า ในตำแหน่งผู้ที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครตก็คาดว่า จะสู้กันอย่างฝุ่นตลบเช่นกัน และเป็นสถานการณ์ที่ฝุ่นตลบท่ามกลางคะแนนนิยมของตัวเลือกผู้สมัครฯ แต่ละคนยังเป็นรองต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ของทางพรรครีพับลิกัน ในขณะที่การหย่อนบัตรเลือกตั้งก็กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา