วันที่ 23 ก.ค.67 นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำสายหลักต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (23 ก.ค.) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 39,098  ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 37,238 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 9,644 ล้าน ลบ.ม. (39% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 15,227 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำมูล มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่ลุ่มน้ำชี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและทรงตัว  กรมชลประทานได้ทำการแขวนบานระบายน้ำตลอดลำน้ำชี เพื่อเร่งระบายลงสู่แม่น้ำมูล ที่ปัจจุบันการระบายน้ำยังทำได้ดี ก่อนที่จะระบายน้ำลงแม่น้ำโขงตามลำดับ ส่วนภาคตะวันออกฝนตกหนักกระจายไปทั่วพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมชุมชนในพื้นที่จังหวัดตราด และจันทบุรี  กรมชลประทาน  ได้เร่งนำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายสู่ภาวะปกติแล้ว  แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หลายพื้นที่ยังคงมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงถึงมากกว่าค่าปกติ เว้นภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีปริมาณฝนรวมน้อยกว่าค่าปกติ

ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกชุก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางหลายแห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด นำการคาดการณ์ปริมาณฝนมาวิเคราะห์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม  รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ  เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำฝนที่จะตกมากขึ้น  ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่มีฝนตกชุกมากขึ้น จนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นั้น   กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ ด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ พร้อมกับลดการระบายน้ำจากเขื่อนทางตอนบน ช่วยลดภาระการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่าง ในขณะที่พื้นที่ตอนกลางได้ทำการหน่วงน้ำเอาไว้ ก่อนจะเร่งระบายลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุดต่อไป

ที่สำคัญ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด  ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูปี67  อย่างเคร่งครัด  ที่สำคัญให้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง  เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์