ร.อ.ธรรมนัส ลุยจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ จ.สมุทรสาคร ประเมินสถานการณ์รับมือ-แก้ไขปัญหา พร้อมเปิดจุดรับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท ห้ามเกษตรกรเพาะเลี้ยงเพื่อขายโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนเสี่ยงคุก

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการจากกรมประมง เดินทางมารับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรสาคร พร้อมกันนี้ได้มีการพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มชาวประมงจาก 16 จังหวัดอ่าวไทย ที่ได้รับผลกระทบด้วย โดยการประชุมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่ ร.อ.ธรรมนัส จะออกมาให้ข้อสรุป ว่า สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน 9 ข้อ โดยมีสาระสำคัญคือ การระบาดเป็นภัยต่อสัตว์น้ำจืดน้ำเค็มและชาวประมงท้องถิ่น รัฐต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผ่านการเสนอรัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ โดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ (23 ก.ค.)

ส่วนหลักปฏิบัติจะมีการออกประกาศมอบหมายให้ประมงจังหวัดในแต่ละพื้นที่ได้ขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องการใช้เรือและอุปกรณ์ ในการล่าปลาหมอคางดำ โดยให้กรมประมงออกประกาศ ซึ่งหากจำเป็นต้องออกประกาศเป็นกระทรวง ก็ต้องทำให้ด่วนที่สุด

ส่วนการรับซื้อของการยางแห่งประเทศไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 15 บาท และมีค่าบริหารจัดการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งชาวประมงและจุดรับซื้อเพิ่มอีก 5 บาท ซึ่งรวมแล้วกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งกรมประมงแต่ละจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ 

ส่วนกรณีที่อนุกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าควรชัดเจนในการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า เรื่องนี้ต้องให้กรมประมงแต่ละจังหวัดไปสำรวจ และลองดูว่างบประมาณเท่านี้ จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะรายละเอียดการนำเข้า-การแพร่กระจาย ทุกอย่างจะดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายในกรอบระยะเวลา 7 วันทำการ โดยจะเริ่มต้นกระบวนการตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) เป็นต้นไป

"ผมไม่อยากให้นักวิชาการ วิจารณ์ออกมาอย่างไม่ตรงกับแนวทางของกรมประมง ถ้าไม่มีข้อกฎหมายก็ต้องมาดูว่าจะรับผิดชอบกับสังคมอย่างไร หากไม่ทราบข้อเท็จจริงอย่าพูดให้หมิ่นเหม่ ขอให้รอ 7 วัน ทำการก่อน”

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำอีกว่า กรมประมงประกาศ ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำเด็ดขาด ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษอาญาจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ การแก้ปัญหา ในที่ประชุมนำเสนอว่าควรถอดบทเรียนจากประเทศอื่นที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ของไทยขอใช้วิธีการจับและทำตามมาตรการที่วางไว้ ถ้าไม่ได้ผลต้องมาคุยกันอีกที รวมทั้งเขตอภัยทาน กรมประมงประกาศยืนยันว่าไม่มีการยกเว้นต้องล่าได้ทุกที่ รวมทั้งจะเริ่มวางกรอบการขึ้นทะเบียนให้นักล่าทั้งหลาย จะทำมั่วซั่วไม่ได้ ต้องมีหลักมีกรอบในการทำงาน ตอนนี้เจ้าหน้าที่คณะกรรมการได้มีการเรียกตรวจสอบนำส่งออกปลาหมอประเภทสวยงาม 11 ถึง 12 บริษัท ก็ได้เริ่มทยอยเข้ามาให้ข้อมูล

ขณะที่ นายณัฐชา ได้กล่าวภายหลังจากการพูดคุย ว่าการหารือวันนี้ ความขัดเจนคือความไม่ชัดเจนในเรื่องงบประมาณ ส่วนตัวมองว่าตอนนี้คือสถานการณ์การแพร่ระบาด ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด แต่งบประมาณอยู่ในระดับกำจัดปลวก (50 บาท จากการยางแห่งประเทศไทย) มีนักวิชาการออกมาประเมินแล้วว่ามูลค่าความเสียหายเกิน 1 หมื่นล้านบาท 

โดยหลังจากการประชุมเสร็จสิ้น ร.อ.ธรรมนัส และคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ จ.สมุทรสาคร ณ แพนายวิชาญ เหล็กดี พร้อมชมการสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ