“เกณิกา”เผย “ทส.-มท.“ จับมือเดินหน้าสานต่อ โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่งเฉลิมพระเกียรติ ในหลวง” ครบ 6 รอบ 72 พรรษา

วันที่ 22 ก.ค.67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเดินหน้าต่อยอด 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติ โดย 1 ใน 10 โครงการ คือการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทย ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดทำโครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 72 แห่ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง และเพื่อร่วมกันแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้ง 2 กระทรวงจึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและช่วยเหลือให้ประชาชนมีน้ำต้นทุนในการทำระบบประปาหมู่บ้านและแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างต่อเนื่อง 

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียบร้อยแล้ว รวมจำนวน 47 พื้นที่ รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการต่อยอดโครงการดังกล่าวจนครบ 72 พื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

”รัฐบาลพร้อมเดินหน้าขยายขอบเขตการดำเนินโครงการเพิ่มเติมจำนวน 25 โครงการ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะพิจารณาพื้นที่ ๆประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ไม่มีศักยภาพในการเจาะบ่อน้ำบาดาล จำเป็นต้องทำการเจาะบ่อน้ำบาดาล พร้อมก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เดือดร้อน โดยจะสำรวจข้อมูลภาคสนามและประชาคม เพื่อคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งทำการประเมินศักยภาพน้ำในพื้นที่ รวมทั้งออกแบบระบบกระจายน้ำ จากนั้นจะทำการสำรวจออกแบบโครงการ และพัฒนาระบบประปาบาดาล และการก่อสร้างระบบกระจายน้ำ“น.ส.เกณิกา กล่าว

น.ส.เกณิกา กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลหวังว่า ประชาชนที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่หาน้ำแล้งซ้ำซาก จะได้รับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ประชาชนในพื้นที่มีน้ำสะอาดใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น ลดรายจ่ายในการจัดหาน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ประกอบอาชีพ รวมถึงเกษตรกรรม