เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี , อดีตปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ปลาหมอคางดำ อยู่เมืองไทยทำไมซ่าส์นัก” ระบุว่า...

ปลาหมอคางดำ อยู่เมืองไทยทำไมซ่าส์นัก

มีคนคะยั้นคะยอให้อธิบายว่า เหตุใดปลาหมอคางดำตอนอยู่ถิ่นเดิมที่กานา อัฟริกาตะวันตก จึงไม่ดุร้ายขยายพันธุ์ได้รวดเร็วเหมือนอยู่ในเมืองไทยขณะนี้

จึงขอตอบแบบเดาๆแต่อิงวิชาการ ดังนี้

1. ที่กานาเขาเกิดมาแต่โบราณนับหมื่นปีแล้ว มีสถานะเป็นปลาประจำถิ่น จึงไม่ต้องขวนขวายต่อสู้เพื่อการอยู่รอดอะไรอีก

2. ที่กานาคงมีศัตรูตัวร้ายอยู่แน่นอน ทำให้เขาซ่าส์ไม่ได้ เห็นได้ชัดว่า พวกเขาอยู่เป็นฝูงใหญ่เพื่อลดหรือเฉลี่ยอันตราย แถมหากินเวลากลางคืนอีกด้วย เพื่อหลีกหนีศัตรูในเวลากลางวัน

3. เมื่อมาอยู่ในเมืองไทย 13 ปีที่แล้ว จิตสำนึกของการอยู่รอดจะสั่งให้เขากินจุ ออกลูกเยอะและกระจายไปในพื้นที่ต่างๆเพื่อเสาะหาที่ที่เหมาะสมที่สุด เขาถึงกระจายไปทั้งน้ำจืด น้ำกร่อยและทะเล ขบวนการทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ (evaluation)

4. เชื่อว่า อีกสักพักหนึ่ง (3-5 ปี) พวกเขาจะกลายเป็นสัญชาติไทย (endemic) เหมือน COVID ที่ตอนนี้ฤทธิ์ลดลง

5. การต่อสู้ของมนุษยชาติ (คนไทย) ก็ต้องอดทน ต้องทำต่อเนื่อง และใช้เงินมาก ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจ ส่วนเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องร่วมรับผิดชอบ (ไม่งั้นท่านอาจถูกแอนตี้ไม่ซื้อของนะ)

6. มาตรการที่กรมประมงออกมานั้นก็ดีแล้ว แต่ให้ระวังเรื่องปลากะพงสักนิด เพราะปลานี้เป็นปลาเลี้ยงที่กินอาหารเม็ดทุกมื้อ จะให้มันไปไล่จับไล่กินลูกปลาหมอคางดำโดยไม่ฝึกอาจจะไม่ได้

7. สุดท้ายของสุดท้ายคือ เราอย่าไปยอมให้มันกลายเป็นปลาหลักของประเทศไทย (Dominant Species) เป็นอันขาด เพราะว่า กานาพบว่า 97%ของปลาธรรมชาติเป็นเจ้าคางดำทั้งนั้น

เรื่องนี้อย่าให้เป็นการเมือง ขอให้เป็นการบ้านเพื่อความปลอดภัยของระบบนิเวศน์และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของน่านน้ำไทย ซึ่งก็คือ แหล่งอาหารของคนไทยและอาชีพชาวประมง

 

#siamrath #สยามรัฐ #siamrathonline #สยามรัฐออนไลน์ #ข่าววันนี้ #อยู่เมืองไทย #ซ่าส์นัก #ปลอดประสพ #ปลาหมอคางดำ #ชำแหละ #ภูมิภาค