ถือเป็นสงครามที่สร้างความสั่นประสาทให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปมิใช่น้อย
สำหรับ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ “กองทัพรัสเซีย” กรีธาพลข้ามพรมแดนเข้าไปรุกราน “ยูเครน” ตามคำสั่งปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา นับถึงวันนี้ก็ใกล้ที่จะครบ 2 ปี กับอีก 5 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์ของการสู้รบ ก็ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่ประการใด
ท่ามกลางความภินท์พังของบ้านเมืองในยูเครน ในฐานะที่เป็นสมรภูมิของสงครามการสู้รบดังกล่าว
โดยสงครามที่เกิดขึ้น พร้อมกับการปรากฏโฉมของกำลังพลกองทัพรัสเซีย และเหล่านักรบรับจ้างวากเนอร์ ในฉากการสู้รบกับกองทัพยูเครน ก็สร้างความสะพรึงให้แก่ทางการของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปหาน้อยไม่ เพราะไม่ผิดอะไรกับการกองทัพรัสเซีย และบรรดานักรบรับจ้างเหล่านั้น มายืนอยู่ปากซอยหน้าบ้าน หรือถึงขั้นมาเคาะประตูบ้านกันเลยทีเดียว
ด้วยความหวาดหวั่นถึงเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ ว่าจะได้รับผลกระทบกระเทือนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มาเขย่าถึงประตูหน้าบ้าน ก็ทำให้หลายๆ ประเทศในภูมิภาค เริ่มถวิลหาการรื้อฟื้นการ “เกณฑ์ทหาร” ที่ห่างหายไปนับทศวรรษให้กลับคืนมา
จะเรียกว่า เป็นการปลุก “ทหารเกณฑ์” ให้หวนกลับคืนชีพกันอีกคำรบก็ว่าได้ หลังจากแรมร้างไปในประเทศทั้งหลายของภูมิภาคยุโรป
ทั้งนี้ ทหารเกณฑ์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป ได้หายไป เพราะทางการของประเทศในภูมิภาคยุโรปเหล่านั้น ยกเลิกไปหลังสิ้นสุด “สงครามเย็น” นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา เพราะคิดว่า ความมั่นคงประเทศของพวกเขา ไม่ถูกสั่นคลอน เนื่องจากประเทศมหาอำนาจคู่ปรับ คือ อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อครั้งกระนั้น ได้ล่มสลาย พร้อมกับรัฐแว่นแคว้นต่างๆ ของสหภาพโซเวียตรัสเซียครั้งอดีต ได้แตกเป็นเสี่ยงๆ กลายเป็นประเทศต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ยูเครน และกลุ่มประเทศที่ชื่อลงท้ายว่า “สถาน” ในภูมิภาคเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เป็นต้น
เมื่อคู่ปรับใหญ่ของยุโรป คือ สหภาพโซเวียตรัสเซีย ล่มสลายไปเช่นนั้น ก็ทำให้หลายประเทศของยุโรป ต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารไป ด้วยความคลายกังวลว่า ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือถึงขั้นรบราฆ่าฟัน เหมือนอย่างแต่เก่าก่อนแล้ว กอปรความคาดหวังว่า พี่เบิ้มใหญ่ของพวกเขา สหรัฐอเมริกา จะให้ความช่วยเหลือหากถูกกองกำลังต่างชาติรุกราน ไม่นับที่ยังมีข้อผูกพันทางการทหารในฐานะชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ก็ทำให้หลายชาติของยุโรป ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่มามุ่งเน้นเสริมประสิทธิภาพให้แก่ทหารอาชีพแทน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางประเทศของยุโรป ที่ยังเกณฑ์ทหาร มีทหารเกณฑ์ ประจำการตามเหล่าทัพต่างๆ อยู่รวมบางประเทศก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหาร และอาจพลิกแพลงการรับใช้ชาติในแบบต่างๆ เอาไว้อย่างหลากหลาย
ไล่เรียงตามตัวอักษรหน้าชื่อประเทศภาษาอังกฤษ เริ่มจาก
“ออสเตรีย” ได้กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องรับใช้ชาติ โดยสามารถเลือกได้ว่า จะเป็นทหารเกณฑ์ หรือทำงานบริการสาธารณะในหน่วยงานรัฐฯซึ่งถ้าจะเป็นทหารเกณฑ์ก็จะต้องเป็นนาน 6 เดือน ถึงจะปลดประจำการ ส่วนการทำงานบริการฯ ก็ต้องเป็นเวลานาน 9 เดือน ตามที่กำหนดไว้
“ไซปรัส” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหารนาน 2 ปี หรือ 24 เดือน
“เดนมาร์ก” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องรับใช้ชาติ โดยให้เลือกว่า ถ้าจะเป็นทหารเกณฑ์ ก็เป็น 4 เดือน เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉิน 9 เดือน เป็นเจ้าหน้าที่รักษาการชายแดน 12 เดือน นอกจากนี้ เดนมาร์ก ยังเปิดรับสมัครสุภาพสตรีมาเป็นอาสาสมัครรับใช้ชาติกันอีกด้วย
“เอสโตเนีย” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร เป็นเวลา 8 เดือน
“ฟินแลนด์” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องรับใช้ชาติเป็นเวลา 165 – 347 วัน แล้วแต่เหล่าทหารที่สังกัด หรือถ้าต้องการบริการสาธารณะก็มีกำหนดเวลาไว้ที่ 347 วัน
“กรีซ” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร โดยแบ่งเป็นถ้าเป็นทหารบก ก็เป็นนาน 9 เดือน ส่วนทหารเรือ และทหารอากาศ 12 เดือน หรือ 1 ปี หรือถ้าจะทำงานบริการสาธารณะก็ 12 เดือน หรือ 1 ปี เช่นกัน
“ลิทัวเนีย” กำหนดให้ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร เป็นเวลา 9 เดือน
“สวีเดน” ใช้ทั้งวิธีสมัครและสุ่มคัดเลือก โดยกำหนดให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง จำนวน 4,000 คน ของผู้ที่มีอายุ 18 ปีในปีนั้นๆ หรือราวร้อยละ 4 ของประชากรที่มีอายุ 18 ปีในปีนั้น สมัครเป็นทหาร ซึ่งถ้าหากยังไม่ครบ ทางการก็จะใช้วิธีการสุ่มคัดเลือก โดยทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเท่าๆกัน ซึ่งเมื่อเป็นทหารแล้ว ก็จะประจำการเหล่าทัพที่สังกัดเป็นเวลา 9 เดือน
โดยมีข้อสังเกตว่า ประเทศที่ยังคงระบบการเกณฑ์ทหารอยู่นั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีพรมแดนใกล้ชิดติดกับรัสเซีย ที่ยุโรปเห็นว่า เป็นปรปักษ์
ทว่า เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนระเบิดศึกขึ้นตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ทำให้หลายประเทศของยุโรป ที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้วนั้น ต้องหวนกลับมาปัดฝุ่นการเกณฑ์ทหารให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ได้แก่
“อังกฤษ” ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ก็ได้พิจารณาถึงแนวทางในการรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารที่เคยยกเลิกไป ซึ่งมีนายทหารระดับนายพลหลายท่าน ให้ความสนใจด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือ เนื่องจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซียเป็นต้นเหตุ
นอกจากนี้ ก็มีบางประเทศได้ขยายการเกณฑ์ทหารไปสู่ประชากรที่เป็นสุภาพสตรีกันมากขึ้น เช่น เดนมาร์ก นั่นคือ จะให้สุภาพสตรีเข้ารับการเกณฑ์ทหารกันมากขึ้น โดยจะเริ่มในปี 2026 (พ.ศ. 2569) ก็จะได้เห็นทหารเกณฑ์หญิง ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารเกณฑ์ชาย เพื่อเตรียมความพร้อมรับภัยคุกคามจากรัสเซียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต