ขอนแก่น พาเด็กๆดำนา สนุกสนานครื้นเครงสืบสานวัฒนธรรมประจำถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น สอดแทรกคุณค่าของข้าวว่ากว่าจะได้มานั้นยากแค่ไหน

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 2567 ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้กำหนดให้มีการสอนวิชาวิถีชุมชนท้องถิ่น "กิน อยู่ เป็น" ด้วยการสอนทักษะชีวิตให้กับนักเรียน ด้วยการกำหนดจัดกิจกรรมดำนา ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการให้มีกิจกรรมพิเศษทั้งทางด้านวิชาการและทักษะชีวิต โดยบรรยากาศการดำนาของครูและนักเรียนทุกชั้นปีในวันนี้เป็นไปด้วยความสนุกสนาน โดยนักเรียนชั้น ป.1-ม.3 ได้ส่งตัวแทนลงดำนาซึ่งมีน้องๆชั้นอนุบาลคอยเต้นประกอบเพลงเข้าจังหวะให้กำลังใจพี่ๆอยู่ด้านบนคันทา ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความน่ารักและสนุกสนาน

นายทรงพล พลเยี่ยม ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย กล่าวว่า โรงเรียนมีพื้นที่รกร้างบริเว๊ด้านหลัง จึงได้ดัดแปลงมาเป็นทุ่งนาและแปลงผัก โดยบูรณาการวิธีการเรียนการสอนด้วยการให้นักเรียนมาเรียนรู้ว่าการทำเกษตรหรือการทำนามีความจำเป็นอย่างไร แต่เป้าหมายหลักคือให้ทุกคนได้เรียนรู้วิธีการดำนาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งทุกคนจะภูมิใจในคุณค่าของข้าวว่ากว่าจะได้มานั้นยากแค่ไหน

"ทั้งยังคงเป็นทักษะชีวิตที่น่าสนใจในการเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนของเรานั้นจะสอนวิชาบูรณาการตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 บางครั้งสอนให้เด็กอนุบาลทำกับข้าวกินเอง ทำขนม บางสายชั้นก็ทำผ้ามัดย้อมและนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ไปขาย บางสายชั้นทำปุ๋ย มีการปลูกผักขายและนำมาใช้ที่โรงอาหารโรงเรียนอีกด้วย ที่โรงเรียนมีเด็กกลุ่มจิตอาสา กลุ่มเกษตร เป็นเด็กที่ชอบเรียนแบบกิจกรรมมากกว่าที่จะเรียนแบบวิชาการในห้องเรียนสร้างการมีส่วนร่วมโดยการเอาเด็กๆแต่ละสายชั้นมาร่วมบูรณาการ พอหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็จะมีการเรียนรู้อย่างอื่นด้วยอย่างการตวงชั่งวัด และให้เด็กๆสีข้าว ตำข้าวเองเพื่อที่จะนำมารับประทานในโรงเรียนเด็กจะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการด้วยตัวเองจนนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน"

ขณะที่ นายอังคาร ชัยสุวรรณ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย กล่าวว่า สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยมีประมาณ 20 คน ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นได้ร่วมกับสมาคมไทยสิขาและ ร.ร.เทศบาลบ้านโนนชัย ทำงานเกี่ยวกับเด็กมา 13 ปีเพื่อที่ดูแลเด็กนอกระบบจึงกลายเป็นโมเดลของทีมงานไร้พรหมแดนนครขอนแก่นที่มาทำงานที่ดูแลเด็กที่เสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไม่ให้หลุดจากระบบดังนั้นจึงหากระบวนการต่างๆมาให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาร่วมกันตามระบบที่โรงเรียนกำหนด

"กิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้นยืดหยุ่นและหลากหลายอย่างเด็กบางคนชอบเรียนวิชาการก็ให้เรียนวิชาการ เด็กบางคนชอบเรียนทักษะชีวิตบูรณาการก็จัดกิจกรรมบูรณาการให้กับเด็กได้เรียนที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติได้มากขึ้นนอกจากพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนแล้วยังมีกิจกรรมพิเศษคืออบรมเด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาและนี่คือหนึ่งในหลักสูตรเกษตรอินทรีย์และนวตกรรมในโรงเรียน อย่างน้อยเด็กกลุ่มที่เสี่ยงหลุดได้มาทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน ใช้ชีวิตมีความสุขในโรงเรียนและรู้สึกอยากมาโรงเรียนน่าจะเป็นความสำเร็จเบื้องต้น"